สทร.ร่วมกับ วสท.จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “เทคโนโลยีก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่ประวัติศาสตร์” เตรียมพร้อมสร้างคลังข้อมูลด้านระบบรางในประเทศไทย
วันนี้ (22 มิถุนายน 2566) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) จัดงานสัมมนาวิชาการ ฟอรัมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศไทย ครั้งที่ 1 “เทคโนโลยีก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่ประวัติศาสตร์” เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่สังคมเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบรางที่เกิดขึ้นหรือที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นการถ่ายทอดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบรางและการขนส่งทางราง เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในสังคม และส่งเสริมอุตสาหกรรมในระบบการขนส่งทางราง รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ โดยมี ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เป็นประธานจัดงาน ร่วมด้วย รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจและสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. เปิดเผยว่า สทร.เป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง บูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ และหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญคือ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง รวมทั้งสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบราง และร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
ด้วยเหตุนี้ สทร.จึงได้ร่วมมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาชีพและวิชาการด้านวิศวกรรมของประเทศ จัดงานสัมมนาวิชาการ ฟอรัมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่สังคมเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบรางที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในอนาคต สทร.จะผลักดันให้เกิดคลังข้อมูลเกี่ยวกับระบบราง เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาศึกษาเพิ่มเติมได้
รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายก วสท. กล่าวว่า ในฐานะองค์กรด้านวิชาชีพวิศวกรรม วสท.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยเป็นการถ่ายทอดผลงานประสบการณ์วิชาชีพวิศวกรรม และเทคโนโลยี รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย เพื่อความก้าวหน้าในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมในระดับสากล รวมถึงให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็น และทิศทางด้านวิศวกรรมที่เหมาะสมและทันสมัย เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
ในการก่อสร้างรถไฟฟ้านั้น หลายครั้งที่ต้องดำเนินการในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นทั้งโบราณสถานหรือพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเตรียมการก่อสร้างและเทคนิคการก่อสร้างที่ละเอียดอ่อนกว่าปกติ ในทางวิศวกรรมจึงต้องหาแนวทางและเทคนิคต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างโดยกระทบต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ น้อยที่สุด จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ฟังจากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญโดยตรงด้วย
ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 1. ความท้าทายของงานพัฒนาในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ นำเสนอโดย คุณบวรเวท รุ่งรุจี นายกสมาคมอีโคโมสไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อกำหนดและประเด็นสำคัญของการพัฒนาโครงการก่อสร้างในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ในการดำเนินงาน และแผนการป้องกัน ด้าน Engineering และ Non-engineering
2. ประสบการณ์การดำเนินงานโครงการก่อสร้างในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่จะนำเสนอเกี่ยวกับหลักการ กระบวนการ และวิธีการบริหารจัดการโครงการก่อสร้างในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์และตัวอย่างกรณีศึกษา (Case Study) การบริหารจัดการ การบริหารความเสี่ยงและการใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมของโครงการก่อสร้างฯ โดย คุณกิตติ เอกวัลลภ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
3. ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการขุดเจาะอุโมงค์ของประเทศไทยกับการก่อสร้างในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและมาตรฐานสำหรับโครงการก่อสร้างในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ Technical/Practical Guideline และ Recommendations ในการออกแบบและก่อสร้างผ่านพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดย ศ.ดร.นพดล เพียรเวช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการขุดเจาะอุโมงค์
ทั้งนี้ สทร.เชื่อมั่นว่าการจัดสัมมนาวิชาการฟอรัมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจะช่วยเผยแพร่และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่สังคม และนำไปสู่การวางมาตรฐานที่ดีทางวิชาชีพในการออกแบบและก่อสร้างในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยต่อไป