xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” แนะอุตฯ เร่งปรับตัวรับมือ ศก.โลกชะลอฉุดส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.แนะภาคอุตสาหกรรมเร่งปรับตัวรองรับโลกเปลี่ยนหลายมิติ และรวดเร็ว โดยเฉพาะส่งออกส่อติดลบหลัง ศก.โลกถดถอย แนะเปลี่ยนจากรับจ้างผลิต (OEM) สู่การรับจ้างออกแบบและผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในแบรนด์ของตนเองหรือ ODM ดึงลงทุนจาก S-curve เดินหน้านโยบาย BCG หวังรัฐบาลใหม่เร่งกิโยตินกฎหมายลดต้นทุนได้กว่าแสนล้านบาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
กล่าวในงานสัมมนา Thailand TAKEOFF ในหัวข้อ "อุตสาหกรรมไทยติดปีก โกอินเตอร์" ว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมไทยได้คาดการณ์การส่งออกไทยปี 2566 จะอยู่ที่ -1% - 0% ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ดังนั้น การส่งออกจึงไม่ใช่กลไกหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในปีนี้ ดังนั้น อุตสาหกรรมไทยต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในอนาคตต้องมาจาก 2 ส่วน คือ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการมีอุตสาหกรรมใหม่ (First industries) เช่น เปลี่ยนจาก OEM (รับจ้างผลิต) เป็น ODM (รับจ้างออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทเพื่อนำไปขายในแบรนด์ตัวเอง) เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไร เป็นการผลิตคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนจากแรงงานเป็นแรงงานขั้นสูง

นอกจากนี้ จะต้องสร้างเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Next-Gen industries) คือการมุ่งดึงการลงทุนจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve เดินหน้านโยบาย BCG และคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเอกชนเองเตรียมเสนอให้รัฐบาลตั้งทั้ง กรอ.พลังงาน และ กรอ.น้ำ เนื่องจากเอลนีโญกำลังส่งผลกระทบภาคการเกษตรของไทยอย่างหนักและนานกว่าที่ผ่านมา


“เราเห็นการย้ายฐานการผลิต อย่างล่าสุดบริษัทอินเทล (Intel Corp) ผู้ผลิตชิปประมวลผลคอมพิวเตอร์สัญชาติอเมริกัน มีแผนจะลงทุน 25,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในอิสราเอล นอกจากนี้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และไทยยังเจอคู่แข่งทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการดึงการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าหรือEV ด้วยอินโดนีเซียที่มีข้อได้เปรียบเรื่องของแร่นิกเกิล ทำให้ครองสัดส่วนตลาดไปถึง 24% ของโลกเหล่านี้เราต้องปรับตัวรับมือ” นายเกรียงไกรกล่าว

นายเกรียงไกรกล่าวย้ำว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล การกิโยตินกฎระเบียบล้าสมัย หรือปฏิรูปกฎหมายที่มีราว 1 แสนฉบับให้ลดลงเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่จะทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้กว่าแสนล้านบาท และเห็นว่าควรเป็นเป้าหมายที่จะต้องทำก่อนเพื่อที่จะ TAKEOFF ขึ้นไป รวมไปถึงการส่งเสริม BCG และอื่นๆ หากทำได้ไทยจะโตแบบจรวด
กำลังโหลดความคิดเห็น