รฟม.ชงคมนาคมและ ครม.เตรียมประกาศอัตราค่าโดยสาร "สายสีเหลือง" 15-45 บาท พร้อมเร่ง ICE รับรองความปลอดภัยระบบก่อนเปิดเชิงพาณิชย์ “คีรี” ตั้งเป้า 3 ก.ค.เก็บค่าโดยสาร คาดมีผู้โดยสารเกือบ 2 แสนคน/วัน จี้ รฟม.ตัดสินใจต่อขยายไปรัชโยธิน
วันที่ 19 มิ.ย. 2566 ที่สถานีลาดพร้าว โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ตลอดสายอย่างเป็นทางการ โดยพลเอก ประยุทธ์ พร้อมคณะ ได้รับฟังบรรยายสรุปโครงการฯที่ศูนย์ซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่ถนนศรีนครินทร์ และชมนิทรรศการโครงการฯ จากนั้นได้ทดลองใช้บริการไปยังสถานีลาดพร้าว
พลเอก ประยุทธ์กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองสามารถก่อสร้างและเปิดเดินรถได้ครบทุกสถานี และจะเป็นทางเลือกในการเดินทางให้ประชาชน ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงคมนาคม การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกระทรวงมหาดไทย เพราะในการก่อสร้างต้องมีการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ด้านล่าง และประชาชน ที่ให้เวนคืนที่ดินบางส่วนมาดำเนินการก่อสร้าง โดยระบบรถไฟฟ้ามีความสะดวก สบาย มีโครงข่ายเป็นใยแมงมุม ซึ่งจะมีการพิจารณาในเรื่องตั๋วร่วม และอัตราค่าแรกเข้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารในวันที่ 3 ก.ค. 2566 ตามที่เอกชนผู้รับสัมปทานเดินรถสายเหลืองหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องนำเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน โดยอัตราค่าโดยสารสายสีเหลืองเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท นอกจากนี้รถไฟฟ้ายังมีอาคารจอดรถ (จอดแล้วจร) ไว้บริการ ระบบรถไฟฟ้ามีโครงข่ายและมีหลายเรื่องต้องดำเนินการ ซึ่งขอให้รัฐบาลเข้าทำต่อ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน อัตราค่าโดยสารจะคำนวณอัตราตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ก่อนเปิดเดินรถ 90 วัน ซึ่งขณะนี้ รฟม.ได้ส่งเรื่องการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามขั้นตอน
โดยจะมีการประกาศตามข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าและวิธีจัดเก็บฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่วงหน้าก่อนวันมีผลบังคับใช้ โดยจะมีการประกาศอัตราค่าจอดรถของอาคารจอดแล้วจรโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ตั้งอยู่ติดกับสถานีศรีเอี่ยมด้วย โดยผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ากำหนดที่อัตรา 2 ชั่วโมง 15 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับอาคารจอดรถ MRT
สำหรับการตรวจรับรองมาตรฐานความปลอดภัยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของวิศวกรที่ปรึกษาอิสระ (ICE) ซึ่งจะสรุปรายงานผลในวันที่ 23 มิ.ย. 2566 และนำเสนอ รฟม.เพื่อร่วมพิจารณาผล คาดว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ จากการทดสอบระบบการเดินรถเสมือนจริงราบรื่นดี ดังนั้น หาก ICE รับรองระบบความปลอดภัย และ ครม.เห็นชอบอัตราค่าโดยสาร และประกาศในราชกิจจาฯ ได้ตามกรอบเวลา ผู้รับสัมปทานโครงการสายสีเหลืองจะสามารถเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ และจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป
@ “คีรี” ประกาศเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่ 3 ก.ค. 2566
ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง เปิดเผยว่า บริษัทมีความพร้อมในการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเต็มรูปแบบครบทั้ง 23 สถานี โดยจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีไปจนถึงวันที่ 2 ก.ค. 2566 และตั้งเป้าเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.เป็นต้นไป โดยคาดการณ์จะมีผู้โดยสารประมาณ 100,000-200,000 เที่ยว-คน/วัน
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองล่าช้ามากว่า 2 ปี ไม่อยากโทษใคร ซึ่งมีปัญหาหลายอย่างมีการแก้ไข จนวันนี้สามารถเปิดบริการได้ ซึ่งเส้นทางสายสีเหลืองจะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง
นายคีรีย้ำว่าบริษัทฯ มีความพร้อมที่จะหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการต่อขยายเส้นทางสายสีเหลือง จากสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีรัชโยธิน โดยบริษัทฯ ยืนยันจะลงทุนเองทั้งหมด และเป็นเส้นทางที่สมควรทำอย่างยิ่ง แต่ขึ้นอยู่กับ รฟม.ว่าจะคิดอย่างไร ถ้าเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน ที่จะได้รับความสะดวกในการเดินทางมากขึ้นก็ควรทำเชื่อมต่อ วันนี้เปิดสายสีเหลืองแล้วจะเห็นว่ามีผู้โดยสารใช้บริการเท่าไร
“จะเหมือนรถไฟฟ้ามหานครสาย สีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่บริษัทลงทุนขยายต่อไปถึงเมืองทองธานี ซึ่งอำนวยความสะดวกประชาชน ที่เมืองทองฯ แต่ละปีมีถึง 20 ล้านคน การเชื่อมโครงข่ายเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น ซึ่งสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี กำลังเร่งก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มเปิดเดินรถได้ปลายปีนี้ และในช่วงเดือน ส.ค.นี้นายกฯ อาจจะเดินทางมาดูความคืบหน้าของสายสีชมพูอีกด้วย” นายคีรีกล่าว
นายคีรีกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า เรื่องที่ตนต่อสู้เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม และเปิดเผยตัวเลขออกมาให้เห็นว่าประเทศชาติเสียหายอย่างไร และหากต่อสู้แล้วชนะไม่ได้หมายความว่าตนจะได้รับสัมปทาน โปรดกรุณาเข้าใจด้วย ซึ่งในการประชุม ครม.นัดสุดท้ายก่อนเป็น ครม.รักษาการ ได้ถอนเรื่องออก และมีการอภิปรายใน ครม.เข้าใจมากขึ้น วันนี้สายสีส้ม ส่วนตะวันออก ก่อสร้างแล้ว หากเสร็จก็จะทิ้งไว้ไม่ได้ประโยชน์และเสียโอกาส อยากให้มีรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็อยากให้รีบดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน
@ 26 มิ.ย.ปรับเวลา ความถี่ เดินรถเหมือนจริง เริ่มบริการ 06.00-24.00 น.
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2566 ทาง EBM จะมีการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เหมือนกับการให้บริการจริงทุกประการ โดย เริ่มวิ่งให้บริการเวลา 06.00-24.00 น. และปรับความถี่ช่วงเวลาเร่งด่วนเป็น 5 นาทีต่อขบวน และช่วงนอกเวลาเร่งด่วน 10 นาทีต่อขบวน บริษัทมีความพร้อมที่จะเริ่มเก็บค่าโดยสารเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยได้จัดทำอัตราค่าโดยสารคำนวณตามดัชนีผู้บริโภคตามสัญญาสัมปทานล่วงหน้า 90 วันเสนอไปที่ รฟม.เรียบร้อยแล้ว และจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารทุกๆ 2 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค
คาดว่าหลังจากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์สักระยะหนึ่งจำนวนผู้โดยสารน่าจะแตะระดับ 100,000 เที่ยว-คน/วัน และปลายปี 2566 จะไปอยู่ที่ระดับเกือบ 200,000 เที่ยว-คน/วัน ทั้งนี้ ในส่วนของตั๋วร่วม สำหรับผู้โดยสารใช้บัตร EMV Contactless ชำระค่าโดยสาร และใช้บริการต่อเชื่อมสายสีเหลืองกับสายสีน้ำเงิน ที่ สถานีลาดพร้าวนั้นจะยกเว้นค่าแรกเข้า ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการพอสมควร แต่ทั้งนี้ต้องประเมินอีกครั้ง
โดยสายสีเหลืองมีรถจำนวน 30 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ (120 ตู้) ซึ่งมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้เกือบ 3 หมื่นคน/ชม./ทิศทาง และเมื่อจำนวนผู้โดยสารหนาแน่นเต็มความจุ จะมีการเพิ่มรถจาก 4 ตู้/ขบวนในปัจจุบันเป็น 7 ตู้/ขบวน