กรมทางหลวงเร่งออกแบบขยาย 4 เลน ทล.12 ช่วง "อ.หล่มสัก-อ.คอนสาร" ปรับแนวอ้อมเขตอุทยานน้ำหนาว ระยะทางเพิ่มเป็น 125 กม.แก้ปัญหา EIA ศึกษาเสร็จปีนี้ สรุปชง สผ.เคาะทำแนวใหม่ เร่งเติมเต็มโครงข่ายช่วงสุดท้าย เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ East-West ครบตลอดสาย 777 กม. รองรับปริมาณจราจร เชื่อมคมนาคม-การค้า 4 ประเทศอาเซียน
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ( ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทล.อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 12 ช่วง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์-อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 81 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแนวเส้นทางโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) จังหวัดตาก-จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งตลอดสายได้มีการพัฒนาเป็นขนาด 4 ช่องจราจรแล้ว คงเหลือช่วง อ.หล่มสัก-อ.คอนสาร ที่ถนนยังเป็น 2 ช่องจราจร
ที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ศึกษาออกแบบ และนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ยังไม่อนุมัติ โดยที่ประชุม กก.วล.ได้มีมติให้กรมทางหลวงไปดำเนินการศึกษารายละเอียดทางด้านสิ่งแวดล้อม แนวเส้นทางใหม่ เพื่อเป็นทางเลือก เปรียบเทียบเพิ่มเติม จากแนวเส้นทาง ทล.12 เดิมที่ผ่านเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้จ้างที่ปรึกษา ศึกษาทบทวนการออกแบบรายละเอียดและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ ทั้งเส้นทางใหม่ตามมติกก.วล. และแนวเส้นทางเดิม ที่อาจจะมีการปรับรูปแบบก่อสร้างให้เหมาะสม คาดว่าจะสรุปภายในปี 2566 และจะนำเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) อีกครั้ง เพื่อให้พิจารณาข้อมูลที่กรมทางหลวง ได้ศึกษาใหม่ตามมติ กก.วล.
เบื้องต้นมีการศึกษาแนวเส้นทางใหม่ ประมาณ 2-3 ทางเลือก ขยับไปทางด้านเหนือจากแนวทางหลวงหมายเลข 12 โดยผ่านทางหลวงหมายเลข 21 และทางหลวง 2216 ผ่านทางอำเภอหล่มเก่าแล้ว วกลงมาบรรจบกับแนว ทางหลวงหมายเลข 12 ที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งพบว่าเส้นทางแนวใหม่มีระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 81 กม.อีกไม่น้อยกว่า 45 กม. ระยะทางรวมเพิ่มเป็น 120-140 กม. ขณะที่สภาพพื้นที่ ผ่านเป็นเนินเขา สลับขึ้น-ลง และมีเขตป่า และคาดว่าค่าก่อสร้างจะมากกว่าหมื่นล้านบาท
“ในแง่เทคนิคการก่อสร้าง พื้นที่ภูเขา สามารถใช้รูปแบบเจาะอุโมงค์ ซึ่ง กรมทางหลวงมีโครงการศึกษาทางเลี่ยงเมืองกระบี่ หรือโครงการทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย ที่เป็นต้นแบบทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกแห่งแรกของไทย และเป็นที่ยอมรับว่า ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้แม้ค่าก่อสร้างจะสูง ที่ผ่านมาทาง คชก.มีแนวคิดยอมรับรูปแบบเจาะอุโมงค์เช่นกัน ดังนั้น ทล.12 ช่วง อ.หล่มสัก-อ.คอนสาร จะมีการศึกษารูปแบบเจาะอุโมงค์ในแนวเส้นทางเดิมเสนอไปด้วย เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบอย่างรอบด้าน”
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างทบทวนการออกแบบรายละเอียดและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ตามมติ กก.วล. โดยได้งบประมาณในปี 2565 วงเงิน 96 ล้านบาท จัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ประมาณราคาค่าก่อสร้าง และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการมีส่วนร่วมของประชาชน ระยะเวลาศึกษา 450 วัน (15 เดือน) โดยเริ่มงานตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค. 2565
การศึกษาทางหลวงหมายเลข 12 ช่วง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์-อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ตอนบ้านน้ำดุก-อ.คอนสาร มี 4 แนวทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ M เป็นแนวเส้นทางเดิม ไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 12 ระยะทางประมาณ 81 กม. ผ่านเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง สภาพเป็นเส้นทางผ่านภูมิประเทศที่เป็นเขาสลับเหวลึก
แนวทางเลือกที่ N1 ผ่านทางหลวงหมายเลข 21 ประมาณ 29.60 กม., ทล.2216 ประมาณ 94.13 กม., ทล. 12 ประมาณ 22.295 กม. รวมระยะทางประมาณ 146.02 กม.
แนวทางเลือกที่ N2 ผ่านทางหลวงหมายเลข 21 ประมาณ 22 กม., พช.2012 ประมาณ 23.28 กม. ,ทล. 2216 ประมาณ 72.53 กม., ทล. 12 ประมาณ 22.295 กม. รวมระยะทางประมาณ 146.10 กม.
ทางเลือกที่ N3 ผ่านทางหลวงหมายเลข 21 ประมาณ 11 กม., ตัดเส้นทางใหม่ประมาณ 26.50 กม., ทล. 2216 ประมาณ 65.23 กม., ทล. 12 ประมาณ 22.295 กม. รวมระยะทางประมาณ 125.02 กม.
การศึกษาพบว่าแนวเส้นทาง N3 เป็นเส้นทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด ขณะที่ทางเลือกที่ M ซึ่งเป็นแนวเส้นทางเดิม ไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 12 นั้น จากการหารือนอกรอบ ทาง สผ.ยังเห็นว่าเส้นทางนี้ยังมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมสูง
สำหรับทางหลวงหมายเลข 12 เป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยเริ่มต้นจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านจังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดขอนแก่น จังหวัดกาฬสินธุ์ และไปสิ้นสุดที่จังหวัดมุกดาหาร ระยะทาง 777 กม.
ปัจจุบันได้มีการขยาย 4 ช่องจราจร แล้ว 696 กม. หรือประมาณ 89% ของเส้นทางทั้งหมด วงเงินลงทุนที่ผ่านมาประมาณ 28,000 ล้านบาท โดยยังคงเหลือเส้นทาง ช่วงอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ถึงอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 81 กม. ที่ยังเป็น 2 ช่องจราจร ซึ่งแนวเส้นทางช่วงนี้ผ่านเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง สภาพเป็นเส้นทาง ผ่านภูมิประเทศที่เป็นเขาสลับเหวลึก จึงมีความจำเป็นต้องปรับแนวเส้นทางราบ และแนวทางดิ่ง รวมทั้งพิจารณาข้อจำกัดด้านกายภาพและด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การพัฒนาโครงการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และพัฒนาเส้นทางให้ได้มาตรฐานทางหลวง และมาตรฐานทางหลวงระหว่างประเทศสายเอเชีย (AH16) เพิ่มความสะดวกและปลอดภัย รองรับการใช้เส้นทางนี้มีปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง