xs
xsm
sm
md
lg

สทนช.เปิดแผนพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลางลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น- สทนช. ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หารือหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้ พร้อมเปิดแผนพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ


วันนี้(10 มิ.ย.) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยนายชาญชัย ศรศรีวิชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยฤดูฝน ในปี 2566 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และลุ่มน้ำชี

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ชีตอนกลาง ว่า สทนช. เล็งเห็นสภาพปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ที่มีปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภค ปัญหาด้านคุณภาพน้ำ ฯลฯ อยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี พ.ศ.2561-2580) เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาขา 9 ลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุมพื้นที่ 459 ตำบล 67 อำเภอ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดอุดรธานี รวมพื้นที่ประมาณ 12.85 ล้านไร่


จากผลการศึกษาพบว่าพื้นที่โครงการมีสภาพปัญหาทั้งด้านอุทกภัย ภัยแล้งซ้ำซากและฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปี รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งพบเกือบทุกพื้นที่ มีเสี่ยงภัยแล้งประมาณ 7.47 ล้านไร่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำเก็บกักใช้การของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวม 2,478 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร ปศุสัตว์ ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวทุกกิจกรรมรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,370 ล้าน ลบ.ม./ปี ส่งผลให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ขาดแคลน 504 ล้าน ลบ.ม/ปี

ส่วนฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมเกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำชีและลำน้ำสาขาเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าความจุลำน้ำและมีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำหรือได้รับผลกระทบจากท้ายน้ำที่มีระดับสูงจนไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทัน พบว่ามีปริมาณน้ำส่วนเกินที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมประมาณ 440 ล้าน ลบ.ม./ปี

มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากกว่า 1.31 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 85,700 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังพบปัญหาปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปา ปัญหาคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมเสื่อมโทรมจากระบบบำบัดน้ำเสียไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ น้ำเสียที่ปล่อยจากการทำการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำทิ้งจากมาจากด้านเหนือน้ำก่อนเข้าพื้นที่โครงการ ล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศน์


ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ของน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย และจะต้องมีการวางแผนในการจัดการน้ำให้เหมาะสมกับความต้องการ ทั้งการอุปโภคและบริโภค จะต้องมีการวางแผนการการจัดสรรน้ำ ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชีตอนกลางยังจะต้องเฝ้าดูเช่นกัน เพราะพบว่าเริ่มมีปัญหาน้ำน้อยและน้ำเสียด้วย สำหรับช่วงเวลาที่การเพาะปลูกเหมาะสมในปีนี้ควรหลังกลางเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป มีปริมาณน้ำภาพรวมตามแผนจัดสรรน้ำ 1,430 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่ 2.43 ล้านไร่

โดยพื้นที่การเกษตรของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย, โครงการส่งน้ำฯ พรมเชิญ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าช่วงต้นลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ - จ.ขอนแก่น, ลำน้ำพอง-ลำน้ำชี-ลำน้ำพรม-ลำน้ำเชิญใช้น้ำฝนเป็นหลักทั้งหมด ส่วนพื้นที่การเกษตรของโครงการส่งน้ำฯ ลำปาวและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 96 แห่ง มีน้ำสำรองต้นฤดูฝนเพียงพอสำรับอุปโภค-บริโภคและเตรียมแปลงเท่านั้น ในฤดูฝนต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักและน้ำชลประทานเสริมในช่วงต้นฤดูฝนหรือฤดูฝนทิ้งช่วง

แนวโน้มเอลนีโญ ขณะนี้ น่าจะยาวถึงปี 2567 ที่อาจจะส่งผลกระทบได้ ทั้งนี้ได้มีการสั่งให้ปรับแผนการบริหาร จัดการน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมด จากปริมาณฝนที่ลดน้อยลง โดยขอให้ปลูกผลผลิตใช้น้ำน้อย หรือการปลูกผลผลิตแค่รอบเดียว เพื่อป้องกันความเสียหาย จึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตร พร้อมขอให้ทุกฝ่ายรวมกันรณรงค์การใช้น้ำที่มีแนวโน้มลดลง และเห็นถึงปัญหาอย่างแท้จริง.
กำลังโหลดความคิดเห็น