xs
xsm
sm
md
lg

“สุเมธ” กางแผนทำงานครึ่งหลังปี 66 เพิ่ม GIT Standard ดัน BCG ลุย 2 แฟร์ใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เป็นหนึ่งในองค์การมหาชนที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้เดินหน้าในการสร้างมาตรฐาน สร้างความเข้มแข็ง สร้างโอกาสทางการตลาดให้อุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการสร้างรายได้ให้คนในประเทศ และสร้างรายได้จากการส่งออกเข้าประเทศ

ในช่วงที่เหลือของปี 2566 องค์กรนี้จะขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางไหน ขับเคลื่อนอย่างไร ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เราไปหาคำตอบจาก “นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT” ที่ได้เปิดเผยถึงแนวทางการทำงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566

ทั้งนี้ ก่อนที่จะลงลึกในรายละเอียด นายสุเมธได้สรุปกรอบการทำงานในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ไว้ว่า มีงานหลักๆ ที่จะดำเนินการขับเคลื่อน คือ การทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า หรือ GIT Standard ให้มีจำนวนมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น การขับเคลื่อน BCG Model ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตามเทรนด์ความต้องการของตลาดโลก การเตรียมความพร้อมเข้าร่วมงานแสดงสินค้าใหญ่ 2 งาน ได้แก่ งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรืองานบางกอก เจมส์ ครั้งที่ 68 และงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023

เพิ่มมาตรฐานอีก 3 มาตรฐาน

นายสุเมธกล่าวถึงการทำ GIT Standard ว่า ปัจจุบันได้มีการจัดทำมาตรฐานแล้ว 22 ขอบข่าย เช่น มาตรฐานห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการตรวจสอบอัญมณี เพชร หยก และจะเพิ่มมาตรฐานใหม่อีก 3 ขอบข่าย คือ การตรวจสอบความเป็นธรรมชาติของมรกต วิธีตรวจสอบพื้นฐานมุก และการวิเคราะห์หาปริมาณเงินในตัวอย่างโลหะมีค่าโดยใช้เทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (XRF) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะทำให้สำเร็จในช่วงครึ่งหลังปี 2566 (ดูรายละเอียด GIT Standard อินโฟกราฟิก)

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GIT Standard แล้วจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา, ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียส พลัส จำกัด, ห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัด ซึ่ง GIT จะผลักดันให้ห้องปฏิบัติการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มีการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GIT Standard เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย

ดันผู้ประกอบการมีธรรมาภิบาล

นอกเหนือจากการผลักดันให้ผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GIT จะขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น การแจ้งที่มาที่ไปของวัตถุดิบ การไม่เอาเปรียบแรงงาน เป็นต้น เพราะข้อกำหนดเหล่านี้จะกลายเป็นเงื่อนไขในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น อย่างวัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถแจ้งที่มาที่ไปได้ ก็จะไม่สามารถซื้อขายได้

“ตอนนี้ในอุตสาหกรรมเพชร มีความชัดเจนแล้วว่าวัตถุดิบต้องมีที่มาที่ไปอย่างไร และกำลังลามเข้ามายังอุตสาหกรรมพลอย ซึ่งต่อไปจะมีความเข้มข้นมากขึ้น อาจจะต้องทำถึงขั้นซื้อวัตถุดิบมาจากไหน ถ้าตอบไม่ได้ก็จะมีปัญหาในการซื้อขาย หรือบอกแหล่งที่มาไม่ได้ ก็จะทำให้ซื้อขายยากขึ้น หรือมีปัญหาได้”

นอกจากนี้ จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน GIT ได้เป็นสมาชิกของ Responsible Jewellery Council หรือ RJC ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างมาตรฐานการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และล่าสุดได้ลงนาม MOU กับสมาคมผู้ส่งออกเครื่องเงินไทย เห็นความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว


นำ BCG Model พัฒนาอุตสาหกรรม

นายสุเมธกล่าวว่า GIT ยังมีแผนที่จะผลักดัน BCG Model ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของ BCG ในการผลิตเครื่องประดับ เพราะเป็นเทรนด์ของโลก หากทำได้ก็จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะนำทั้ง 3 ส่วนของ BCG Model มาใช้ไม่ได้ทั้งหมด โดยสิ่งที่พยายามและผลักดันโดยตลอด คือ เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้เกิดความคุ้มค่า เกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ที่ผ่านมา GIT ได้เริ่มกับการประกวดออกแบบเครื่องประดับ โดยในปี 2565 ใช้หัวข้อ True Nature ที่กระตุ้นให้นักออกแบบเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและเลือกวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปี 2566 ก็ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม แต่เน้นความเป็นสีทอง และพลอยเนื้ออ่อน แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกัน ยังได้เข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยปีนี้ได้ทำโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว (เสน่ห์ใต้) ที่ได้เน้นการนำวัสดุพื้นถิ่น หรือการนำวัสดุที่เหลือใช้มา Upcycle กลายเป็นเครื่องประดับที่ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของโลก จนปัจจุบันเกิดเป็นชิ้นงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมาแล้ว

ลุย 2 งานแฟร์ใหญ่

นายสุเมธกล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีงานแสดงสินค้าที่เป็นงานขนาดใหญ่ระดับโลก และระดับประเทศ 2 งานที่ GIT ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน และเป็นผู้จัดงานเอง คือ งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems and Jewelry Fair (BGJF) ครั้งที่ 68 ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ก.ย. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่ง GIT จะร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ใช้กลไกที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ในการขับเคลื่อนการจัดงาน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกตามยุทธศาสตร์ชาติได้สำเร็จ

ส่วนอีกงาน เป็นงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023 ซึ่ง GIT เป็นแม่งานหลัก โดยจะร่วมกับจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดจันทบุรี จัดงานขึ้นระหว่างวันที่วันที่ 7-11 ธ.ค. 2566 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เคพี จิวเวลรี่เซ็นเตอร์ และตลาดพลอย ถ.ศรีจันทร์ จังหวัดจันทบุรี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้ออัญมณี และยังเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรีและผู้ประกอบการจากจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค และยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีในราคาผู้ผลิต เบื้องต้นกำหนดไว้ประมาณ 300 คูหา

“การจัดงานในปีนี้เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 โดยช่วงสถานการณ์โควิด-19 เว้นการจัดไปในปี 2564 และมาจัดควบทีเดียวปี 2564-65 แต่ก็ยังไม่เต็มรูปแบบ และจะกลับมาจัดแบบเต็มรูปแบบในปี 2566 โดยคาดว่าปีนี้จะคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะงานนี้ เป็นที่รอคอยของกลุ่มผู้ประกอบการค้าพลอย อัญมณี และเครื่องประดับงานหนึ่งของโลก” นายสุเมธกล่าว

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจัดแสดงและจำหน่ายพลอย อัญมณี และเครื่องประดับแล้ว ยังจะจัดนิทรรศการงานประกวดออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 17 นิทรรศการเครื่องประดับ Gems Treasure นิทรรศการเครื่องประดับผู้ประกอบการจันทบุรี และจะจัดสัมมนาเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านการตลาดการค้าออนไลน์และการออกแบบ จัดกิจกรรม BWC Business Matching การจับคู่ธุรกิจภายใต้โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy with Confidence) และการบริการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ โดย GIT

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษภายในงาน เช่น Gems Tour อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล (พระแม่ที่ประดับพลอยกว่า 200,000 เม็ด) ชมโบราณสถานที่สำคัญของจันทบุรี การทำเหมืองพลอย โดยได้รับความร่วมมือจากโรงแรมในจังหวัดจันทบุรี ลดราคาให้เป็นพิเศษในช่วงการจัดงาน เพื่อกระตุ้นการค้า การท่องเที่ยวในจังหวัดด้วย

ส่งออก 4 เดือนยังชะลอตัว

นายสุเมธกล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน เม.ย. 2566 มีมูลค่า 450.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28.85% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกภาพรวมที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อในบางประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง แต่หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,265.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.29% และรวม 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออก ไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 2,667.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.35% และรวมทองคำ มูลค่า 5,390.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.01%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่ามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยสหรัฐฯ ลดลง 10.58% เยอรมนี ลด 20.53% สหราชอาณาจักร ลด 20.45% เบลเยียม ลด 16.00% อินเดีย ลด 69.94% ญี่ปุ่น ลด 3.93% แต่อิตาลี เพิ่ม 61.47% ฮ่องกง เพิ่ม 169.19% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 43.62%

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 48.50% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 24.37% พลอยก้อน เพิ่ม 28.26% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 89.92% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 124.46% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 21.13% เพชรก้อน ลด 19.74% เพชรเจียระไน ลด 35.56% เครื่องประดับเทียม ลด 14.77% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ลด 33.55% และทองคำ ลด 32.64%

แนะใช้กลยุทธ์ Go Green-Fast-First

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากนี้ไปยังคงชะลอตัว โดยมีปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออก คือ เศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ มีวิกฤตสถาบันการเงิน อัตราว่างงานเพิ่ม ทำให้การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น และกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนยูโรโซน ได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และจีน ที่มีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับ

ทั้งนี้ แนวทางในการปรับตัว ผู้ประกอบการควรหาโอกาสกระจายตลาดให้มีความหลากหลาย ลดการพึ่งพาตลาดหลักเพียงแห่งเดียวมากเกินไป โดยตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในการทำตลาด ทั้งยังต้องรักษาแนวทางการทำตลาดออนไลน์ไว้ให้ต่อเนื่อง เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้น โดยแนวทางการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ Go Green Go Fast และ Go First คือ เน้นการรักษ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์ที่รวดเร็วฉับไวในการตอบโจทย์ผู้บริโภค และเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ หรือมีผลิตภัณฑ์ในไลน์สินค้าใหม่ๆ ก่อนคู่แข่ง จะเป็นแนวทางที่เข้ากับตลาดในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น