xs
xsm
sm
md
lg

“BIG C” ใหญ่กว่าเดิม เพิ่มเติมคือ โอกาส-ธุรกิจใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือบีอาร์ซี ในวันนี้มีความแข็งแกร่งมากกว่า มีความใหญ่กว่าบิ๊กซีในอดีตที่เราถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ในอดีต”

นี่คือคำกล่าวของ นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC”

ในฐานะบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) และกลุ่มบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด (TCC)
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                          


บิ๊กซี ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2560 หลังจากที่ทางกลุ่มบีเจซีเข้ามาซื้อกิขการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จากกลุ่มกาสิโนเมื่อปี 2559 และหลังจากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ วางตำแหน่งทางการตลาด ปรับการดำเนินงาน รูปแบบการลงทุน และเพิ่มแพลตฟอร์มใหม่ๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน การเปิดบริการออมนิแชนเนล โซเชียลคอมเมิร์ซและออนไลน์ การเปิดตัวบริการใหม่ๆ การปรับธุรกิจเป็นรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น

ล่าสุดในปี 2566 ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและแปรสภาพบริษัทเป็นมหาชน การขยายช่องทางจำหน่ายไปจีนด้วยการเป็นพันธมิตรกับทางแพลตฟอร์มทีมอลล์

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งใหม่อีกครั้งของบีอาร์ซีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการนี้ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจในการสร้างอาณาจักรต่อไปอีกครั้ง

หากพิจารณาถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของบิ๊กซีหรือบีอาร์ซี จะพบว่า เป็นผู้นำทางการตลาดไฮเปอร์มาร์เกต อันดับที่สองในกลุ่มร้านค้าขนาดใหญ่ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 18.3% ห่างจากอันดับที่สามมากถึงสองเท่าที่มี 8.7% ส่วนอันดับผู้นำตลาดมีส่วนแบ่งตลาด 28.2%


“ในไทยเราเป็นอันดับที่สอง เราก็คงประคองและขยายธุรกิจต่อเนื่อง แต่เราก็จะไปมุ่งเน้นในต่างประเทศและลงทุนขยายตัวในต่างประเทศมากขึ้นด้วย ควบคู่ไปกับในไทยซึ่งตอนนี้เราเป็นที่หนึ่งในเวียดนาม ที่หนึ่งในลาว ส่วนในจีนเราก็ขยายตัวแต่คงไม่ได้เน้นการลงทุนเปิดสาขา ตอนนี้ร่วมกับทีมอลล์ในจีนแล้ว” บอสใหญ่ บีอาร์ซี กล่าว

สำหรับแผนลงทุนต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศในช่วง 2 ปีนี้ ประกอบด้วย

ปี 2566 มีแผนลงทุนดังนี้ ร้านค้าขนาดใหญ่หรือไฮเปอร์มาร์เกต 1,989 ล้านบาท, ลงทุนขยายร้านค้าขนาดเล็ก 1,692 ล้านบาท, ลงทุนตลาดโอเพนแอร์ 257 ล้านบาท, ลงทุนบิ๊กซีฟู้ดเซอร์วิส 1,130 ล้านบาท, ลงทุนในลาว 398 ล้านบาท, ลงทุนในกัมพูชา 257 ล้านบาท, ลงทุนปรับปรุงตกแต่งร้านค้าใหม่ 2,283 ล้านบาท, ลงทุนธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม 481 ล้านบาท, ลงทุนธุรกิจอื่นๆ 160 ล้านบาท, ลงทุนศูนย์กระจายสินค้า 861 ล้านบาท, และอื่นๆ อีก 1,456 ล้านบาท โดยประมาณ

ส่วนปี 2567 แผนลงทุนร้านค้าขนาดใหญ่ 2,486 ล้านบาท, ร้านค้าขนาดเล็ก 1,295 ล้านบาท, ตลาดโอเพนแอร์ 288 ล้านบาท, บิ๊กซีฟู้ดเซอร์วิส 900 ล้านบาท, ลงทุนในลาว 265 ล้านบาท, ลงทุนในกัมพูชา 625 ล้านบาท, ปรับปรุงตกแต่งร้านใหม่ 1,975 ล้านบาท, ธุรกิจค้าส่งและสนับสนุนการค้าปลีกแบบดั้งเดิม 402 ล้านบาท, ธุรกิจอื่นๆ 1,717 ล้านบาท, ศูนย์กระจายสินค้า 296 ล้านบาท และอื่นๆ 1,245 ล้านบาท โดยประมาณ


อย่างไรก็ตาม ยังมีโมเดลใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการคือ บิ๊กซี เพลซ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ปรับปรุงบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เกต 2 สาขาเดิม คือที่รัชดาภิเษก กับลำลูกกา คาดว่าจะเปิดบริการได้ประมาณเดือนหน้านี้

ส่วนในกัมพูชา และลาวนั้น คาดว่าจะลงทุนร้านค้าขนาดใหญ่เฉลี่ย 1-2 สาขาต่อปี ซึ่งยังมีพื้นที่ขยายตัวได้อีกมากสำหรับร้านค้าขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับไทยที่พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อเปิดสาขาขนาดใหญ่นั้นยากเต็มที โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

นอกจากน้้นมีแผนที่จะปรับปรุงสาขาที่อยู่ในทำเลท่องเที่ยวให้เน้นเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 24 สาขาหลักๆ เช่น สาขาราชดำริ จะเพิ่มอีกหลายสาขารวมเป็น 60 สาขาให้ได้ เนื่องจากปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว

ปัจจุบันกลุ่มบีอาร์ซีมีธุรกิจที่หลากหลาย และเครือข่ายที่มากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนี้

1. ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่
1.1 ร้านค้าในรูปแบบขนาดใหญ่ (199 แห่งในไทย และ 1 แห่งในกัมพูชา) ประกอบด้วยแบรนด์ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า, บิ๊กซี เพลส, บิ๊กซี มาร์เก็ต และ บิ๊กซี ฟู้ดเพลส


1.2 ร้านค้าในรูปแบบขนาดเล็ก (รวม 1,518 แห่ง) คือแบบที่บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการ คือ บิ๊กซี มินิ
1,382 สาขาในไทย, บิ๊กซี มินิ q18 สาขาในกัมพูชา, ร้านกีวีมาร์ท 2 สาขาในกัมพูชา (ซึ่งอยู่ระหว่างการรีแบรนด์เป็นร้านค้าภายใต้แบรนด์บิ๊กซี) และร้านค้าแบบผู้รับแฟรนไชส์ของบริษัทฯ เป็นเจ้าของ คือ บิ๊กซี มินิ 53 สาขาในประเทศไทย, บุคคลภายนอกดำเนินการภายใต้สัญญาให้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า “บิ๊กซี มินิ”
บิ๊กซี มินิ จำนวน 63 สาขาในประเทศลาว, ให้สิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้า B’s Mart แก่บุคคลภายนอกเพื่อดำเนินงานร้านสะดวกซื้อในประเทศเวียดนาม จำนวน 78 สาขา (เนื่องจากบริษัทฯ ได้รับโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจาก BJC ในเดือนเมษายน 2566 จำนวนสาขาจึงไม่ถูกนับรวมกับจำนวนร้านค้าขนาดเล็ก ณ 31 มีนาคม 2566)

1.3 ตลาด Open-Air (8 แห่งในประเทศไทย) ตลาดนัดกลางคืน ‘ตลาดเดินเล่น’ จำนวน 6 สาขา และตลาดนัดกลางวัน ได้แก่ ‘ตลาดครอบครัว’ 1 สาขา และ ‘ตลาดทิพย์นิมิตร’ 1 สาขา

1.4 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่อื่นๆ บิ๊กซีฟู้ด เซอร์วิส (4 สาขาในไทย) คือ บิ๊กซี ดีโป้ (11 สาขาในไทย) Omnichannel Platform ได้แก่ บริการขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.bigc.co.th, การสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน Big C Plus, การซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มมาร์เกตเพลซของบุคคลภายนอก รวมทั้งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของบริษัทฯ

ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) โดยการปล่อยเช่าพื้นที่ภายในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ในร้านค้าในรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่, บิ๊กซีฟู้ดเซอร์วิส, บิ๊กซี ดีโป้ ให้ผู้เช่าหลากหลายกลุ่ม


2. ธุรกิจค้าส่ง การทำการค้ากับกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่แบบ B2B โดยตรงกว่า 80,000 ราย, การขายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม จำนวนกว่า 1,170 สาขา ที่ดำเนินงานโดยเจ้าของร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมในประเทศไทย ภายใต้โมเดล ‘ร้านค้าโดนใจ’ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทฯ

3. ธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านขายยาเพรียว จำนวน 146 สาขาในประเทศไทย ร้านขายยาสิริฟาร์มา จำนวน 1 สาขาในประเทศไทย, ร้านกาแฟวาวี จำนวน 58 สาขาในประเทศไทย อันประกอบด้วย บริษัทฯ เป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการจำนวน 50 สาขา และผู้รับแฟรนไชส์ของบริษัทฯ เป็นเจ้าของ และเป็นผู้ดำเนินการจำนวน 8 สาขา, ร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส จำนวน 55 สาขา และร้านหนังสือบุ๊คกาซีน จำนวน 1 สาขาในประเทศไทย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายได้จากบริการให้การสนับสนุนต่างๆ อันได้แก่ บริการรับชำระเงิน ผ่านเคาน์เตอร์ Big Service แก่ลูกค้าในร้านค้าบิ๊กซี, บริการให้คำปรึกษา บริการวางระบบหน้าร้านและระบบสนับสนุน รวมถึงติดตั้งระบบเครื่องชำระเงิน (POS System) ให้กับร้านค้าโดนใจ ให้บริการทรัพยากรบุคคล ในการส่งผู้บริหารเพื่อให้บริการจัดการแก่กลุ่ม TCC ในการดำเนินงานของร้านค้า MM Mega Market ของ MMVN ในประเทศเวียดนาม, บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่ผู้จัดหาสินค้า (Supplier) ของร้านค้าบิ๊กซี, บริการให้เช่าพื้นที่โฆษณาภายในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) ของบริษัทฯ


นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคผ่าน Omnichannel Platform ที่มีรากฐานจากการวิเคราะห์และทำความเข้าใจฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่ไว้วางใจบริษัทฯ มาอย่างยาวนาน ผสานกับความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงประสบการณ์การจับจ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ไปยังออฟไลน์ (Online to Offline) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ครบครันของบริษัทฯ อันประกอบไปด้วย เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน Big C Plus ซึ่งมีผู้เข้าใช้งานทั้งสองแพลตฟอร์มข้างต้นจำนวนประมาณ 3.5 ล้านรายต่อเดือน รวมถึงร้านค้าออนไลน์ของบริษัทฯ บนแพลตฟอร์มมาร์เกตเพลซของบุคคลภายนอก (Shopee, Lazada, Foodpanda, Grab Mart ฯลฯ) รวมทั้งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของบริษัทฯ

ถือได้ว่าธุรกิจมีการเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วงปี 2559 ที่มีธุรกิจเฉพาะในไทยเท่านั้น โดยมีจำนวนร้านค้าขนาดใหญ่ และขนาดเล็กช่วงนั้นรวม 655 แห่ง จำนวนร้านค้ารูปแบบอื่นๆ 142 แห่ง มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิรวม 0.83 ล้านตารางเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าครึ่งในปีนี้ ด้วยพื้นที่รวม 1 ล้านตารางเมตร


ขณะที่ผลประกอบการเติบโต โดยเมื่อปี 2563 มีรายได้รวม 113,100 ล้านบาท ส่วนปี 2564 มีรายได้รวม 111,107 ล้านบาท และเมื่อปี 2565 มีรายได้รวม 113,573 ล้านบาท เติบโต 2.2% ส่วนไตรมาสแรกปี 2566 มีรายได้รวม 27,433 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วที่ทำได้ 26,676 ล้านบาท สัดส่วนรายได้รวมของบิ๊กซีเมื่อปี 2565 ประกอบไปด้วย ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ สัดส่วน 89% จากธุรกิจค้าส่งสัดส่วน 9% และธุรกิจอื่นๆ สัดส่วน 2%

BRC ยังมีรูปแบบช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายและครบวงจร เข้าถึงและตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ มีการพัฒนาการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลักผ่านฐานข้อมูลลูกค้าสมาชิกโปรแกรมสิทธิพิเศษบิ๊กพอยต์ซึ่ง BRC ได้มุ่งเน้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า นอกจากนี้ BRC ยังมุ่งเน้นการคัดเลือกสัดส่วนของกลุ่มผู้เช่าและกลุ่มสินค้าในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) อย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย อยู่ในกระแสนิยม มีความคุ้มค่าคุ้มราคา และกลายเป็นจุดหมายประจำ (Go-to Destination) สำหรับลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มคนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว


นอกจากนี้ การที่ BRC ได้รับการสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขบางประการจากกลุ่ม TCC ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในทำเลที่มีศักยภาพจำนวนมากในประเทศไทย BRC อาจจะสามารถเข้าถึงที่ดินดังกล่าว ทําให้ BRC อยู่ในสถานะที่มีโอกาสเติบโตได้โดยการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภายใต้ข้อตกลงในสัญญาให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมและสัญญาให้สิทธิกับ BJC บิ๊กซี รีเทล มีสิทธิในการได้มาซึ่งกิจการ MM Mega Market (Vietnam) Company Limited และเครื่องหมายการค้า MM ที่ใช้ในการดำเนินกิจการร้านค้า MM Mega Market ในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการตามสัญญา

BRC ได้พัฒนา Omnichannel Platform ที่มีรากฐานจากการวิเคราะห์และทำความเข้าใจฐานลูกค้าขนาดใหญ่ภายใต้โปรแกรมสิทธิพิเศษบิ๊กพอยต์ที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานกว่า 18 ล้านราย เพื่อมอบประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าอย่างครบวงจรผ่านช่องทางออนไลน์ไปยังช่องทางออฟไลน์ (Online to Offline) ได้อย่างไร้รอยต่อ โดยนำเสนอผ่านการทำการตลาดแบบรายบุคคลซึ่งตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้า โดยอาศัยเครือข่ายร้านค้าที่กว้างขวางและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น บิ๊กซี ออนไลน์ (www.bigc.co.th) แอปพลิเคชันบิ๊กซีพลัส (Big C PLUS) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานประมาณถึง 3.5 ล้านรายต่อเดือน

นอกจากนั้นยังมีร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มมาร์เกตเพลซ เช่น Shopee, Lazada, Foodpanda, Grab Mart และอื่นๆ รวมถึงระบบโปรแกรมสิทธิพิเศษบิ๊กพอยต์ที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกในระบบโปรแกรมสิทธิพิเศษบิ๊กพอยต์กว่า 18 ล้านราย โดยบริษัทฯ ได้มีการคิดค้นและริเริ่มระบบโปรแกรมสิทธิพิเศษดังกล่าวนับตั้งแต่ปี 2552


ขณะเดียวกัน BRC ยังมุ่งมั่นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมให้ดีขึ้น ตลอดจนดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางธุรกิจอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ และวางเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่ดาดฟ้าของร้านค้า ศูนย์กระจายสินค้า และร่วมมือกับพันธมิตรในการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งสินค้า ตลอดจนตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในอัตราร้อยละ 15 ในปี 2575 เมื่อเทียบกับปี 2564 และตั้งเป้าหมายระยะยาวเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 โดย BRC เชื่อว่าด้วยศักยภาพและประสบการณ์ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม เราจะสร้างความสุขของคนไทยให้บิ๊กขึ้น คุ้มขึ้น

นอกจากนั้น บริษัทยังมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอีกมากมายที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่ดาดฟ้าของศูนย์การค้า และศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทฯ รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัทฯ ในการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) เข้ามาริเริ่มใช้ในการขนส่งสินค้าของกลุ่มบริษัทฯ ไปยังร้านค้าบิ๊กซีในกรุงเทพมหานคร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการลดการใช้ทรัพยากรน้ำ การใช้พลังงาน และปริมาณขยะและขยะอาหาร โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมลงร้อยละ 15 ภายในปี 2575 เมื่อเทียบกับปี 2564 และตั้งเป้าหมายระยะยาวเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593

จากข้อมูลของ Euromonitor ในระหว่างปี 2556 ถึงปี 2565 ในกลุ่มผู้ค้าปลีกสมัยใหม่สามอันดับแรกในประเทศไทย BRC คือผู้ประกอบธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในกลุ่มซูเปอร์มาร์เกต และมีสถิติการเติบโตสูงสุด ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของส่วนแบ่งทางการตลาด (ซึ่งคำนวณจากรายได้จากการขายปลีก) นอกจากนี้ BRC ยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในประเทศอื่นๆ ที่เติบโตสูงในภูมิภาค ผ่านเครือข่ายร้านค้าหลากหลายรูปแบบและแบรนด์ทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบธุรกิจแบบรวมศูนย์ซึ่งผสมผสานระหว่างธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ซึ่งเป็นจุดแข็งอันโดดเด่นที่ทำให้ BRC สามารถสร้างโอกาสในการนำเสนอผลกำไรและการเติบโตได้อย่างมั่นคง


“บิ๊กซี คือชื่อที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมากว่า 30 ปี และวันนี้เราพร้อมที่จะก้าวสู่มิติใหม่ของธุรกิจและการเติบโตอันแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมภายใต้ชื่อ “บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ “BRC” ภายหลังการปรับโครงสร้าง บริษัทฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับศักยภาพในทุกๆ ด้าน ให้เป็นผู้นำของภาคธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่ง ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่เหมือนใครด้วยความคุ้มค่าและการคัดสรรสินค้าอย่างดี ซึ่งเป็นจุดหมายในการสร้างความสุขแบบบิ๊กๆ ให้กับลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างครบวงจร และเป็นสถานที่ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชนให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้า และเป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร เป็นจุดนัดพบและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้โดยไม่เสียเวลาเดินทาง ควบคู่ไปกับการมุ่งตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายอัศวินย้ำชัดเจน

ล่าสุด BRC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต.


กำลังโหลดความคิดเห็น