xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จตลอดสาย! ขยาย 4 เลน "เลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้" วิ่งสะดวก 19.3 กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจรทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้ ช่วง 14.8 กม.เสร็จแล้ว เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวง รองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้วิ่งได้ 4 เลนตลอดสาย 19.3 กม.เชื่อมต่อจังหวัดใกล้เคียงสะดวก

กรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ขณะนี้สำนักก่อสร้างทางที่ 1 ทล. ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้าง ขยาย ทางหลวงหมายเลข 366 สายทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้ เป็น 4 ช่องจราจร ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 1,598.69 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ จ.ลพบุรี เพิ่มศักยภาพและรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นในอนาคต


โดยทางหลวงหมายเลข 366 หรือทางเลี่ยงเมืองลพบุรี เป็นทางหลวงสายสำคัญที่เชื่อมต่อได้หลายจังหวัด เช่น จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอ่างทอง และมุ่งสู่จังหวัดนครสวรรค์ได้ มีจุดเริ่มต้น กม.ที่ 0+000 (จุดบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) ผ่านจังหวัดลพบุรี ไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 311 ที่ กม. 19+310 (แยกสนามไชย) รวมระยะทางทั้งหมด 19.3 กิโลเมตร เดิมเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจรตลอดสาย ในปี พ.ศ. 2560 กรมทางหลวงดำเนินการก่อสร้างขยายเป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่ กม. 0+065 - กม. 4+500 เสร็จในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ภาคการขนส่งให้สมบูรณ์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564)


ต่อมากรมทางหลวงได้รับงบประมาณปี 2563 เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 366 สายทางเลี่ยงเมืองลพบุรีด้านใต้ในช่วงที่เหลือ โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการฯ ที่ กม. 4+450 - กม. 19+310 รวมระยะทาง 14.860 กิโลเมตร ก่อสร้างเป็นมาตรฐานชั้นทางพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ผิวทางคอนกรีต หนา 25 เซนติเมตร ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.50 เมตร รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟกะพริบบนทางหลวง โดยมีงานก่อสร้างสะพานข้ามคลองชลประทาน จำนวน 17 แห่ง และสะพานข้ามทางรถไฟ จำนวน 1 แห่ง พร้อมก่อสร้างทางแยกบริเวณ กม. 10+950 เป็นแบบวงเวียนเพิ่มประสิทธิภาพการสัญจร


โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโครงข่ายคมนาคมในการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ของคนในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาจราจร เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย






กำลังโหลดความคิดเห็น