xs
xsm
sm
md
lg

ค่าแรง 450 บาท/วัน..กลิ่นความเจริญอาจจางลง บทเรียนอดีตลงทุนหนี-SME ทยอยเจ๊ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การจัดตั้งรัฐบาลไทยภายใต้การลงนาม (MOU) ร่วมกันของ 8 พรรคที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำและตามมาด้วยเพื่อไทยที่เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับ 2 นักลงทุนไทยและต่างชาติต่างจับจ้องแบบไม่กะพริบตาและดูเหมือนว่าภาพยังคงไม่ชัดเจนด้วยการจัดวางตำแหน่งต่างๆ ที่ไม่ลงตัวอยู่พอสมควร กระบวนการเหล่านี้ก็ว่ากันไป

แต่สิ่งที่ภาคธุรกิจต่างๆ ในไทยกังวลมากสุดคงหนีไม่พ้นนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคก้าวไกลที่เรียกว่าก้าวไถลไปไกลแตะ 450 บาทต่อวันที่หาเสียงไว้ว่าทำทันทีหรือภายใน 100 วันแรกที่ได้บริหารประเทศหากตั้งรัฐบาลได้ตามไทม์ไลน์ คร่าวๆ เร็วสุดนโยบายนี้คงได้ใช้ไม่เกินปลายปีนี้หรือต้นปี พ.ศ. 2567

ปัญหาค่าแรงถูกติงนับตั้งแต่การหาเสียงในเวทีต่างๆ อยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จึงต้องควงแขนสมาชิกพรรคคนสำคัญๆ ไปหารือกับนักธุรกิจตัวจริงถึงที่สำนักงาน ส.อ.ท. โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท.และทีมผู้บริหาร ส.อ.ท.เข้าหารือร่วมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566

แน่นอนว่าประเด็นร้อนที่หารืออย่างกว้างขวางหนีไม่พ้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันทันทีที่ผู้บริหารส.อ.ท.มีการวิพากษ์อย่างรุนแรงเพราะขึ้นทีเดียว 30% กระชากมากไป โดยตอกย้ำให้เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นได้มีการปรับขึ้นไปเมื่อ 1 ต.ค. 2565 แต่การปรับนั้นหากจะเดินหน้าจริงก็จำเป็นต้องดูปัจจัยต่างๆ ทางเศรษฐกิจว่าจะไปด้วยกันไหม พร้อมกับเผยให้เห็นถึงปรัชญาที่อยากให้รัฐบาลคำนึงถึง นั่นคือ “นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ได้ แต่ถ้านายจ้างอยู่ไม่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน” และสิ่งที่เอกชนไม่อยากเห็นคือนายจ้างอยู่ไม่ได้แล้วคนงานก็อยู่ไม่ได้

นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงนโยบายให้สิทธิกับลูกจ้างทั่วไปสามารถลาคลอดได้ 180 วันจากปัจจุบันที่ 98 วัน ที่ภาคเอกชนก็กังวลไม่น้อยไปกว่ากันพร้อมยกตัวอย่างและตั้งคำถามตรงว่า “เคยได้ยินคลอดลูกหัวปีท้ายปีหรือไม่? หากเป็นเช่นนี้เท่ากับพนักงานคนนี้จะทำงานเพียง 3 เดือนแต่ธุรกิจต้องจ่ายเงินตลอด 1 ปีเช่นนั้นหรือ” และตอกย้ำให้เห็นว่าการจะ Up Skill หรือ Re Skill มันจะเป็นไปไม่ได้เลย พร้อมยกตัวอย่าง วิสาหกิจรายย่อยหรือ Micro SME มีลูกจ้าง 5 คน อีก 1 คนท้องลาคลอด 180 วัน อีก 4 คนต้องแบกภาระจะเป็นธรรมหรือไม่

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังได้ชี้เป้าให้เห็นถึงปัญหาแรงงานของไทยทั้งในแง่ของผลิตภาพแรงงานต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านและต้นทุนต่อหน่วยสินค้ายังคงสูง ขาดฐานข้อมูล (Big Data) กำลังแรงงานสำหรับการบริหารด้านความต้องการและการผลิต ทักษะแรงงานไม่ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ ขาดการ Up -skiils และ Re-skills ให้สอดคล้องกับธุรกิจใหม่ ขาดการประสานงานระหว่างนโยบายภาครัฐ การศึกษา ภาคเอกชนในการผลิตบุคลากรตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ขณะเดียวกัน ไทยยังเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้ขาดกำลังคนในเชิงปริมาณ รวมไปถึงขาดแคลนแรงงานต่างด้าวสำหรับงานที่แรงงานไทยไม่ทำ (3D) ธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือ SMEs ใช้แรงงานเข้มข้นขาดศักยภาพในการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ทดแทน ฯลฯ พร้อมกับพ่วงข้อเสนอที่ควรจะแก้ไขให้กับทีมงานพรรคก้าวไกลไปพิจารณา

หลังจากจบการหารือที่ยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง นายพิธาเองดูเหมือนเสียงจะอ่อนลงไปเพราะได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำที่ยอมรับว่า เอกชนกังวลและยอมรับว่าต้องกลับไปถามเพื่อไทยเพราะพรรคเพื่อไทยมีนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันในอีก 4 ปีข้างหน้า ดังนั้นเพดานขั้นแรกไม่รู้จะเป็นอย่างไร ...... ทำให้สื่อหลายสำนักต่างพาดหัวกันว่าพิธาถอย!!! .... แต่ข้ามไปแค่เพียงวันเดียวก็ออกมายืนยันนโยบายค่าแรงจะเดินหน้าตามแผนโดยจะมีมาตรการมาดูแลลดผลกระทบ

ดังนั้น ประเด็นว่าด้วยมาตรการดูแลผลกระทบโดยเฉพาะ SMEs ที่ก้าวไกลได้ยกตัวอย่าง เช่น การลดภาษีให้ธุรกิจ SMEs การหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่านาน 2 ปี แต่ประเด็นนี้หมายถึง SMEs มีรายได้และกำไรแล้ว ปัญหาคือค่าแรงที่ขึ้นจะผลักภาระต้นทุนเขาเพิ่มที่อาจล้มลงตั้งแต่แรก พร้อมกับเสนอแนะว่าควรจะหามาตรการลดรายจ่ายที่จะให้ SME แบบต่ำสุดเพื่อให้ไปต่อโดยไม่ต้องขึ้นค่าจ้างก็ยังได้ ....


ค่าแรงขึ้นทั้งกระดานดันเงินเฟ้อตีกลับ

เสียงสะท้อนจากภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ฯลฯ ต่างก็มีมุมมองในทิศทางเดียวกันว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดจะทำให้ค่าแรงทั้งระบบถูกปรับขึ้นยกแผง และนั่นหมายถึงต้นทุนภาคธุรกิจจะสูงขึ้น ท่ามกลางต้นทุนต่างๆ ที่ก่อนหน้านั้นทั้งวัตถุดิบ ค่าพลังงาน ที่หลายอุตสาหกรรมยังคงแบกรับภาระไว้ไม่อาจปรับราคาสินค้าได้ตามต้นทุนทั้งหมดด้วยเพราะการแข่งขันที่สูงในบางกิจการเนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัว เหล่านี้จะทำให้เป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นและจะกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตามมา

เปิดบทเรียนค่าแรง 300 บาท/วัน นักลงทุนเผ่นหนี-SME เจ๊ง

แต่เหนือสิ่งอื่นใดหากย้อนไปในอดีตปัญหาค่าแรงขั้นต่ำได้ทุบเศรษฐกิจไทยและ SME เจ๊งไปแล้วจำนวนไม่น้อย นับตั้งแต่การปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์เป็นอย่างดีที่ธุรกิจต่างจังหวัดต้องทยอยปิดกิจการกันนับไม่ถ้วนโดยเฉพาะภาพธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้ากีฬา รองเท้า เคยเฟื่องฟูในการรับจ้างตัดเย็บตามห้องแถวต่างๆ ร้างไปแบบไม่เหลือหลอ และธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ รองเท้า เครื่องหนัง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ต่างหนีย้ายไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านแทน และการลงทุนใหม่ที่เน้นใช้แรงงานก็เริ่มเบาบางลง

นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต่อมาไทยไม่อาจจะขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่เคยแตะระดับ 5% ต่อปีได้อีกเลยเช่นในอดีต ขณะที่เวียดนามที่เป็นคู่แข่งทางการค้าที่มีลักษณะของการผลิตสินค้าคล้ายไทยกลับขึ้นแซงไทยทั้งในแง่ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และมูลค่าการส่งออกสินค้าแบบตามไม่ทันแล้ว เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการลงทุนจากต่างชาติทั้งการลงทุน การส่งออกเป็นสำคัญ แม้กระทั่งการท่องเที่ยวเราก็ยังต้องอาศัยจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาขับเคลื่อน

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังก้าวสู่ภาวะถดถอย การส่งออกของไทยปี 2566 ก็ยังคงเสี่ยงสูงว่าจะโตได้หรือไม่ซึ่งหลายสำนักฯ มองว่าอาจถึงขั้นติดลบด้วยซ้ำ แต่โดยเฉลี่ยคาดว่าจะโตเพียง -1% ถึง 1% จากปีก่อน นอกจากนี้ เมื่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเปลี่ยนไปเริ่มขยับไปสู่แบบอำนาจหลายขั้วแทนขั้วเดียวที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ รัฐบาลใหม่มาจึงต้องเล่นบทกำกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้สมดุลหากไม่เช่นนั้นแล้วย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ล้วนต้องพึ่งปัจจัยภายนอกเกือบทั้งสิ้น

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเอกชนทุกส่วนต่างย้ำว่าไม่ได้คัดค้าน!!! หากแต่การปรับขึ้นจำเป็นต้องเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ที่ต่างกันออกไป สร้างความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโดยเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) แต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้สอดรับกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเติบโตของ GDP ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถของการจ่ายของนายจ้าง และผลิตภาพแรงงาน ค่าแรงจึงไม่ควรจะขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ และหากเป็นไปได้ภาคเอกชนต้องการเห็นการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานของกระทรวงแรงงาน

ดังนั้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อมุ่งหวังในการเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้หมายถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดประมาณ 27-30% โดยไม่มีที่มาที่ไป แถมยังย้อนแย้งกับนโยบายที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีแทนคน .....แล้วยังมโนว่าขึ้นค่าจ้างสูงๆทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเศรษฐกิจจะดีและขยายตัวตามค่าจ้าง ซึ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะผลกระทบไปถึงโครงสร้างต้นทุนของประเทศที่ต้องแข่งขันด้านการส่งออก ค่าจ้างสูงกระทบต่อราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในที่สุดภาระจะตกไปอยู่กับประชาชนโดยรวม

ประกอบกับผู้ประกอบการของไทยเป็น SMEs ถึง 95% ส่วนหนึ่งอาจปิดกิจการกระทบการจ้างงานที่แม้แต่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารเล็กใหญ่ ธุรกิจก่อสร้าง ที่เพิ่งฟื้นจากโควิด-19 ก็กังวลในประเด็นเหล่านี้อยู่ไม่น้อย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติหรือในไทยที่กำลังคิดจะขยายกิจการเพิ่มเติมหรือลงทุนใหม่นี่อาจจะต้องเบรกหรือทบทวนใหม่อีกครั้ง ... แล้วการจ้างงานเพิ่มจะมาจากไหน เด็กจบใหม่แต่ละปี 4-5 แสนคนก็รอคิวหางานอยู่

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระยะกว่า 10 ปีได้กลายเป็นนโยบายหาเสียงจากพรรคการเมืองในรูปแบบของประชานิยม ที่ไม่ได้คำนึงว่าที่สุดจะทำได้หรือไม่ได้ เหมาะสมหรือกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมหรือไม่อย่างไร แต่แค่ต้องการคะแนนเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นเพียงพอ .... เพราะไม่ได้ควักเงินตัวเองจ่ายแต่คนที่รับภาระเป็นนายจ้างและผลกระทบก็จะตกไปสู่ลูกจ้างหากอัตราการปรับขึ้นไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน......

นโยบายเหล่านี้ควรจะเลิกเสียทีหรือมีกฎหมายใดๆ มาดูแลเพื่อควบคุม หากไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นนโยบายหาเสียงอยู่ร่ำไปและอัตราคงจะก้าวกระโดดไปไกลตามจินตนาการ และเมื่อได้เป็นรัฐบาลก็จะมาถูกกดดันให้ปรับขึ้นโดย No สน No แคร์กับเศรษฐกิจภาพรวมจะเป็นเช่นไรก็ตามขอแค่ทำตามเสียงคนที่เลือกข้างมาเป็นพอ เช่นนั้นหรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น