xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเกาะติดนโยบายรัฐบาลใหม่ลดผูกขาดทุนใหญ่เรื่องดีแต่ไม่ง่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท. และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยยังคงเกาะติดการฟอร์มทีมรัฐบาลก้าวไกลใกล้ชิดว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร มีเสถียรภาพหรือไม่ พร้อมจับตานโยบายลดการผูกขาดกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่สร้างความสั่นสะเทือนต่อตลาดหุ้นด้านจิตวิทยาพอสมควร เผยหากทำสำเร็จเป็นสิ่งที่ดีแต่ยอมรับว่าไม่ง่าย

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศยังคงติดตามการฟอร์มทีมรัฐบาลไทยใกล้ชิดซึ่งเชื่อว่าทุกภาคส่วนอยากให้เร่งจัดตั้งโดยเร็วที่สุดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสิ่งสำคัญนโยบายของภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องวางแผนร่วมกันเพราะประเทศที่ประสบความสำเร็จเช่น ญี่ปุ่น จะให้ความสำคัญต่อภาคธุรกิจเป็นตัวนำและรัฐร่วมวางแผนสนับสนุนขับเคลื่อน

“นักลงทุนยังคงต้องดูความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร มีเสถียรภาพไหม ถ้าไปได้ดีเดี๋ยวนักลงทุนก็จะกลับเข้ามาซึ่งเราก็เชื่อมั่นว่าไทยมีสิ่งดีๆ อยู่พอสมควร ซึ่ง ส.อ.ท.เราทำงานได้กับทุกพรรค ที่ผ่านมาแม้การเมืองแกว่งแต่เอกชนเราก็เดินหน้ามาตลอด” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่จะลดการผูกขาดกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งที่เป็นแบบตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic) และตลาดแบบผูกขาด (Monopoly) ในสังคมไทยนั้นเป็นแนวคิดที่ดีเพราะหากสามารถแก้ไขได้จะทำให้ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กระจายรายได้ให้ทุกกลุ่มผู้ประกอบการและสร้างโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัตินั้นต้องยอมรับว่าไม่ได้ง่ายนัก

“ปัจจุบันธุรกิจในไทยจะเป็นทุนใหญ่ราว 20% ของทั้งหมด นโยบายนี้สร้างความสั่นสะเทือนพอสมควรต่อตลาดหุ้น ทางจิตวิทยาก็รับไปก่อนกับกลุ่มทุนที่อยู่ในข่ายผูกขาดก็คงต้องลุ้นกัน เช่นธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งยอมรับไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งแง่รายได้ เศรษฐกิจ และการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ แนวนโยบายที่พรรคก้าวไกลจะแก้ไขก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำได้หรือไม่ คงไม่ง่าย เพราะมันฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจไทยมานาน กว่าจะผ่านด่านนายทุนเดิมไหนจะระบบข้าราชการอีก แต่หากทำได้ก็จะเป็นประโยชน์” นายเกรียงไกรกล่าว


นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้นทุนแฝงอยู่ในค่าครองชีพของประชาชนคนไทย เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ ล้วนทำให้ค่าครองชีพของคนไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมองว่ามาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1. กลไกผูกขาด และภาครัฐ ถูกครอบงำโดยทุนใหญ่ผูกขาดในทุกระดับ 2. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน คืออีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ของต้นทุนต่างๆ ที่ตามมาในค่าครองชีพ และค่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน ดังนั้นรัฐจึงควรกำหนดวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหาร่วมกัน คือ 1) การแก้ปัญหาทุนผูกขาด และ 2) การแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน และ 3) การผลักดัน “นโยบายรัฐสวัสดิการ” เพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนที่ลำบากในแต่ละประเภท อย่างเหมาะสม

“หากค่าครองชีพของประชาชนและแรงงานลดลงนโยบายค่าแรงขั้นต่ำก็จะไม่เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของพรรคการเมืองอย่างที่เป็นมาในอดีตซึ่งมีแต่จะทำลายเศรษฐกิจโดยเฉพาะ SMEs ด้วยการล้มหายตายจาก และเลิกกิจการหรือการลดจำนวนแรงงาน เพื่อลดภาระต้นทุนค่าแรงอย่างที่หลายภาคส่วนเป็นกังวล และส่วนตัวควรมุ่งเน้นการจ่ายตามทักษะฝีมือแรงงาน” นายอิศเรศกล่าว


นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลใหม่จะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาดในระบบที่เกี่ยวพันถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ครองตลาดในไทยหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการเปิดทางการกระจายรายได้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้ลืมตาอ้าปากก็จะเป็นเรื่องที่ดีมากแต่ยอมรับว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ง่ายเพราะมีหลายขั้นตอนที่ต้องผ่านการเห็นชอบในสภาฯ เป็นต้น กว่าจะผ่านได้ต้องใช้เวลานานท่ามกลางปัจจุบันที่ทั่วโลกและไทยยังคงเผชิญวิกฤต 5 ด้าน 1. สุขภาพ 2. เศรษฐกิจ 3. สงคราม 4. สิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องบริหารความเสี่ยง

“MOU ที่รัฐบาลได้ลงนามกันไว้ก็มีSMEเชื่อมโยงอยู่หลายข้อ โดยเฉพาะลดการผูกขาด แต่ก็คงต้องไปดูลึกในรายละเอียดมาตรการ วิธีการ งบประมาณและผลลัพธ์ ระบบการเชื่อมโยงระหว่างรัฯและเอกชน ทำอย่างไรจะส่งต่อผู้ประกอบการไปเรื่อยๆ เป็นห่วงโซ่ ให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีตลาดและขายได้ เหมือนวิ่งผลัดดูแลแต่ละด้าน ผมเชื่อว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก รวมถึงนักการเมือง เรามีสีสันของประชาธิปไตยแต่ต้องยืนได้บนความแตกต่าง ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแต่ต้องสร้างสรรค์และเปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย” นายแสงชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น