xs
xsm
sm
md
lg

แฉพิรุธล้มประมูล "จ้างบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย" สนามบินภูเก็ต บิ๊ก ทอท.ส่อเอื้อบางราย จี้ "กีรติ" เร่งตรวจสอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แฉ ทอท.ล้มประมูล "จ้างบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย" สนามบินภูเก็ตส่อเอื้อเอกชน พิรุธ ประวิงเวลาให้ส่งเอกสารเพิ่มหลังเปิดราคาแล้วแต่ชี้แจงไม่ได้ต้องตีตกคุณสมบัติ หันเจรจาต่อรองอีกราย สุดท้ายมีคำสั่งยกเลิกประมูล เอกชนลุยอุทธรณ์ จ่อยื่น "กีรติ" ตรวจสอบด่วน ชี้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ล่าสุดสัญญาเดิมหมดไม่มีคนทำงาน ผู้โดยสารโวย "ส้วมตัน"        

จากที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) โดยท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ออกประกาศประกวดราคา เพื่อจ้างงานจ้างควบคุมและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย เครื่องจักรและอุปกรณ์และระบบสุขาภิบาล ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะเวลาสัญญาจ้าง 3 ปี (วันที่ 1 พ.ย. 2565 เวลา 08.00 น. ถึงวันที่ 1 พ.ย.  2568 เวลา 08.00 น.) ราคากลาง 38.081 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 3 ต.ค. 2565 ต่อมาวันที่ 16 พค. 2566 ท่าอากาศยานภูเก็ตได้ออกประกาศยกเลิกประกวดราคาจ้างงานจ้างควบคุมและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย เครื่องจักรและอุปกรณ์และระบบสุขาภิบาล ท่าอากาศยานภูเก็ต โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ได้รับอนุมัติจ้าง ซึ่งเงื่อนไขข้อกำหนดไม่ละเอียด ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนในการพิจารณาผลการจ้างงานดังกล่าวและใช้ระยะเวลาในการพิจารณาผลล่วงเลยมาเป็นเวลานาน ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด อีกทั้งมีผู้เสนอผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียวทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางด้านราคา หากดำเนินการต่อไปอาจจะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ ทอท.นั้น             

@ เอกชนยื่นอุทธรณ์ พร้อมร้องบิ๊ก ทอท.จี้ตรวจสอบ ยกเลิกประมูลไม่เป็นธรรม              

นายศิริพงษ์ กมลศุภพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรวิษณุ อันดามัน จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้เสนอราคาและมีคุณสมบัติถูกต้องและคณะกรรมการได้เจรจาต่อรองราคาเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ ไม่เห็นด้วยที่ ท่าอากาศยานภูเก็ตประกาศยกเลิกประกวดราคาจ้างงานจ้างฯ เพราะทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นขออุทธรณ์การยกเลิกประกวดราคาฯ ไปที่ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต แล้ว ตามมาตรา 117 แห่งพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พร้อมทั้งยื่นไปยังคณะกรรมการอุทธรณ์ กรมบัญชีกลาง                
            
นอกจากนี้ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดภูเก็ต ร้องเรียนพนักงานของท่าอากาศยานภูเก็ตซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกรณีไม่อนุมัติงานจ้างควบคุมและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย เครื่องจักรและอุปกรณ์และระบบสุขาภิบาล และหลังจากนี้จะยื่นหนังสือถึง นายกีรติ กิจมานะวัฒน์  ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.เพื่อร้องเรียนและขอความเป็นธรรม ในกรณีที่ท่าอากาศยานภูเก็ตยกเลิกการประกวดราคาโครงการฯ เป็นการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสอีกด้วย

สภาพห้องน้ำที่สนามบินภูเก็ต มีน้ำเอ่อล้นออกจากท่อ นองพื้นหลายจุด
@พิรุธส่อเอื้อเอกชน ประวิงเวลาให้ส่งเอกสารคุณสมบัติเพิ่มเติมได้หลังเปิดราคา

จากเอกสารร้องเรียนระบุว่า ทอท.โดยท่าอากาศยานภูเก็ตได้ประกาศเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่ 4RS10-661001 งานจ้างควบคุมและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียเครื่องจักรและอุปกรณ์ และระบบสุขาภิบาล ทภก. ลงวันที่ 3 ต.ค. 2565 ราคากลาง 38,081,667.36 บาท มีผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร จำนวน 8 ราย กำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 7 ต.ค. 2565 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. มีผู้เสนอราคาจำนวน 2 ราย คือ 1. บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส เสนอราคา 29,700,700 บาท 2. บริษัท พรวิษณุ อันดามัน จำกัด เสนอราคา 34,737,250.30 บาท

กำหนดตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอ วันที่ 10 ต.ค. 2565 แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจาก นายจิมหลี สารศรี ประธานคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาฯ ลาพักผ่อน ทอท.จึงเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาฯ เป็นนายจรัล ปานแดง รองผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษา ท่าอากาศยานภูเก็ต และได้มีการพิจารณาผลฯในวันที่ 11 ต.ค. 2565 โดยมีการตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย พบว่า บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส มีเอกสารตามข้อกำหนด 17.1.3 บุคลากร (ตามคุณสมบัติข้อ 8 ) ข้อ 8.5 ผู้ปฏิบัติงาน “8.5.2 สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสบการณ์เกี่ยวกับงานซ่อมระบบบำบัดน้ำเสียหรือซ่อมบำรุงสุขภัณฑ์” คณะกรรมการฯ ที่ตรวจสอบพบว่ามีรายชื่อพนักงาน 7 คน ปฏิบัติงานที่สนามบินสุวรรณภูมิในสัญญาจ้าง งานควบคุมและบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ในระบบผลิตประปา ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562-1 ก.ค. 2565 และสัญญาจ้าง งานควบคุมและบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ในระบบผลิตประปา ท่าอากาศยานภูเก็ต วันที่ 1 ก.ค. 2565-1 ก.ค. 2568 ซึ่งไม่ตรงคุณสมบัติ

คณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือวันที่ 26 ต.ค. 2565 ขอให้บริษัท โกลบอลฯ ส่งเอกสารเพิ่มเติม รับรองคุณสมบัติเกี่ยวกับงานซ่อมบำบัดน้ำเสียฯ ซึ่งบริษัท โกลบอลฯ ตอบเมื่อ 1 พ.ย. 2565 ว่าไม่สามารถแสดงหลักฐานคุณสมบัติบุคลากรได้ตามเงื่อนไข TOR โดยระบุว่ามีข้อจำกัดของเวลา จึงเสนอบุคลากร 7 คนที่ปฏิบัติงานด้านน้ำประปา โดยหากได้รับคัดเลือกจะจัดหาพนักงานที่มีประสบการณ์ทดแทน พร้อมทั้งอ้างว่าบริษัทฯ นั้นมีประสบการณ์ด้านระบบบำบัดน้ำเสีย สามารถทำงานได้


กรณีบุคลากรไม่มีประสบการณ์ด้านระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งผิด TOR คณะกรรมการฯได้มีหนังสือสอบถามไปยังฝ่ายสุขาภิบาล และคณะกรรมการจัดทำร่าง TOR ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับเนื้องานอย่างชัดเจนแล้ว และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ท่าอากาศยานภูเก็ต ว่าบริษัทที่ได้รับงานจะมีความสามารถในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสีย ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เพื่อให้คุณภาพน้ำทิ้งของสนามบินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเห็นควรเร่งการพิจารณาผล

นอกจากนี้ ยังมีการสอบถามไปยังฝ่ายกฎหมายอีกว่า บริษัท โกลบอลฯ สามารถรับรองเอกสารประสบการณ์พนักงาน 7 คนดังกล่าวว่ามีประสบการณ์งานซ่อมระบบบำบัดน้ำเสียฯ ในระหว่างที่พนักงานยังทำงานสัญญาจ้างผลิตน้ำประปาที่สนามบินภูเก็ต ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับ สัญญางานระบบบำบัดน้ำเสียฯ ได้หรือไม่ ซึ่งฝ่ายกฎหมายยืนยันคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับเนื้องานอย่างชัดเจนแล้ว

วันที่ 3 เม.ย. 2566 คณะกรรมการฯ จึงพิจารณา บริษัท โกลบอลฯ มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตาม TOR และบริษัท พรวิษณุ อันดามัน จำกัด ซึ่งเสนอราคา 34.737 ล้านบาทเป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่ ทอท.กำหนด จึงได้เจรจาต่อรองราคาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 โดยบริษัทฯ ปรับลดราคาลงเหลือ 34.70 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 3.381 ล้านบาท ประมาณ 8.88% และเห็นควรจ้างดำเนินงาน โดยบริษัทฯ ยืนราคา 90 วัน

การที่ผู้อำนวยการฝ่ายอำนายการท่าอากาศยานภูเก็ตปฏิบัติงานแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้ออกประกาศยกเลิกประกวดราคาจ้างงานจ้างควบคุมและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียฯ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2566 ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า หลังคณะกรรมการพิจารณาฯ เสนอขออนุมัติจ้าง บริษัท พรวิษณุ อันดามัน จำกัด ผู้ชนะประมูล ไปยังนายมนต์ชัย ตะโหนด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งนายมนต์ชัยได้มอบหมายให้ นางกัลยรัตน์ สุทธิพัฒนกิจ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (สายสนับสนุนธุรกิจ) พิจารณาแทน ซึ่งนางกัลยรัตน์ได้มีหนังสือลงวันที่ 12 พ.ค. 2566 ไม่อนุมัติการจ้างดังกล่าว โดยอ้างตามเหตุผลข้างต้น


นายศิริพงษ์กล่าวว่า เหตุผลที่ผู้มีอำนาจ ไม่อนุมัติ โดยอ้างเงื่อนไขข้อกำหนดไม่ละเอียด ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนในการพิจารณาผลอ้างข้อกำหนดไม่ชัดเจน เรื่องนี้ ฝ่ายสุขาภิบาล ฝ่ายกฎหมาย และกรรมการร่าง TOR ยืนยันว่า ข้อกำหนดชัดเจน ส่วนข้ออ้างว่าใช้ระยะเวลาในการพิจารณาผลล่วงเลยมาเป็นเวลานาน เรื่องนี้เป็นความบกพร่องของ ทอท.

กรณีมีผู้เสนอผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียวทำให้ไม่เกิดการแข่งขันทางด้านราคา ประมูลครั้งนี้ มีผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร 8 ราย มีผู้เสนอการประกวดราคา 2 ราย ซึ่งราคาต่ำสุดเสนอ 29.70 ล้านบาท นั้น บริษัทฯ ทราบจากคณะกรรมการฯ ว่าเป็นผู้เสนอราคาอีกราย แต่ไม่ทราบรายละเอียดที่ไม่พิจารณาจ้างรายดังกล่าว การประมูลครั้งนี้ถือว่ามีผู้เสนอราคา มากกว่า 1 ราย กรณี ทอท.อ้างมีผู้ผ่านคุณสมบัติรายเดียวแล้วไม่เกิดการแข่งขันราคา และเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อ ทอท.ไม่ควรเจรจาต่อรองกับบริษัทฯ จนยุติ ดังนั้นการยกเลิกประมูลภายหลังจึงไม่เป็นธรรม

@ล้มประมูลทั้งที่ไม่ผิด กระทบพนักงานและครอบครัวเดือดร้อนหนัก

นายศิริพงษ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท พรวิษณุ อันดามัน จำกัด ได้รับสัญญา จ้างงานจ้างควบคุมและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย เครื่องจักรและอุปกรณ์และระบบสุขาภิบาล ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะเวลา 3 ปี สัญญาหมดวันที่ 1 พ.ย. 2565 ซึ่งในระหว่างเปิดประมูลใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ตได้ทำสัญญาจ้างบริษัทฯ ตามสัญญาเลขที่ DCS10-660007 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2565 เป็นผู้รับจ้างงานจ้างควบคุมและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสีย ฯ ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 ถึงวันที่ 1 พ.ค. 2566

“บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ มีสัญญางานในสนามบินภูเก็ต และปฏิบัติงานตามระเบียบ เงื่อนไข ข้อกำหนด อย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมาเมื่อสนามบินมีปัญหาในหลายกรณี และร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งน้ำท่วมสนามบิน หรือช่วยซ่อมรันเวย์ บริษัทฯ ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ส่วนการประมูลครั้งนี้เป็นไปตามขั้นตอน ถูกต้อง แต่ ทอท.กลับยกเลิกประมูล จึงต้องเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะส่งผลกระทบต่อพนักงานหลายสิบคนรวมถึงครอบครัวที่ต้องเดือดร้อนเพราะตกงาน แม้จะกังวลว่าอาจจะถูกกลั่นแกล้งก็ตาม ซึ่งได้ยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ที่สำนักงานใหญ่เพื่อขอความเป็นธรรมด้วย”

สภาพน้ำเอ่อนองพื้นห้องน้ำ
@เป็นเรื่อง! ผู้โดยสารโวย สนามบินภูเก็ต ”ส้วมตัน” น้ำเอ่อนองพื้น

รายงานข่าวจากสนามบินภูเก็ตแจ้งว่า ภายหลังสัญญาจ้าง บริษัท พรวิษณุฯ ครบ 6 เดือน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2566 ไม่ได้มีการต่อสัญญาใดๆ โดยสนามบินภูเก็ตได้ดำเนินการบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียฯเอง ซึ่งพบว่าช่วงวันเสาร์ 20 พ.ค. และวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค. 2566 ห้องน้ำ อาคารผู้โดยสารหลังเก่า มีปัญหาอุดตัน น้ำเอ่อนองพื้น ผู้โดยสารเดือดร้อน ซึ่งเบื้องต้น ทอท.ยังได้แจ้งให้บริษัท พรวิษณุฯ เข้ามาช่วยแก้ไข ทั้งที่ไม่มีสัญญาจ้างแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้สนามบินภูเก็ตไม่มีปัญหาเรื่องระบบบำบัดน้ำเสีย เพราะมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหาร โดยปัจจุบันมี นายมนต์ชัย ตะโหนด เป็นผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายบำรุงรักษา) ขณะที่พบว่า บริษัทที่ไม่ผ่านคุณสมบัติได้รับสัญญางานสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น