xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยฟื้นต่อเนื่อง โชว์กำไร Q1/66 กว่า 1.25 หมื่นล้าน รายได้พุ่ง 4.15 หมื่นล้าน เพิ่มฝูงบิน A350 เจาะตลาดจีน, ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบินไทยฟื้นรายได้ไตรมาส 1 ปี 66 พุ่ง 4.15 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 271% มีกำไรสุทธิ 1.25 หมื่นล้าน คาดทั้งปีรายได้แตะ 1.3 แสนล้าน เครื่องบินเช่าแอร์บัส A 350 ลำแรกมาแล้ว ก.ค.นี้ลุยเพิ่มความถี่เส้นทางจีน, ญี่ปุ่น ส่วน B777 และ A380 อีก 12 ลำยังขายไม่ออก เจรจา ทอท.ย้ายที่จอด

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2566 ว่า บริษัท การบินไทย และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 41,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 271.2% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ที่มีรายได้รวม 11,181 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายรวม 28,473 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้าซึ่งมีค่าใช้จ่าย 14,348 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน 9.7% ทำให้มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 13,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 512% จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ขาดทุน 3,167 ล้านบาท โดยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 3,549 ล้านบาท 

และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงสร้างหนี้ การจำหน่ายสินทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นรายได้รวม 2,987 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 486% จากไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ขาดทุน 3,243 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 12,514 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,054 ล้านบาท

โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสารจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารเพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม เช่น ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และกลับมาเริ่มให้บริการในเส้นทางสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยกว่า 80% ในเส้นทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่สูงมาก

@ยุบ "ไทยสมายล์" ดึงแอร์บัส 320 ทั้ง 20 ลำคืน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน

ในขณะที่บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด มีรายได้ 3,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152% (1,217 ล้านบาท) จากไตรมาส 1 ปี 2565 โดยมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 172 ล้านบาท แต่มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการกลับรายการค่าใช้จ่าย 517 ล้านบาท ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 82 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยมีแผนปรับโครงสร้าง และควบรวมฝูงบิน ลำตัวแคบของไทยสมายล์ แอร์บัส A 320 จำนวน 20 ลำ เข้ามาภายในปีนี้ เพื่อทำให้อัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) สูงขึ้น

ปัจจุบัน ไทยสมายล์ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินไม่ถึง 9 ชั่วโมงต่อวันซึ่งถือว่าต่ำ ส่วนการบินไทยภาพรวม ใช้ประมาณ 12.3 ชั่วโมงต่อวัน จึงมีการศึกษาการใช้งาน A320 ว่าควรอยู่ไม่ต่ำกว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน หากทำได้จะทำให้ต้นทุนเครื่องบินต่อชั่วโมงลดลง 20% แต่ไทยสมายล์มีข้อจำกัด เรื่องใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ของไทยสมายล์ ที่ไม่มี Slot บางประเทศ ทำให้ไม่มีการใช้เครื่องบินช่วงกลางคืน ส่วนการบินไทยมี Time Slot กลางคืนด้วย การควบรวมเครื่องบิน A320 มาที่การบินไทยจะทำให้การใช้ทรัพย์สินมีความคุ้มค่าและได้ประโยชน์มากขึ้น

ซึ่งเครื่องบิน A320 จำนวน 20 ลำนั้นการบินไทยเช่ามาให้ไทยสมายล์เช่าช่วงใช้ต่อ ขั้นตอนคือจะเป็นการยกเลิกการเช่าช่วง โดยในสัปดาห์หน้าจะเสนอคณะกรรมการเจ้าหนี้ เห็นชอบการควบรวมเครื่องบินไทยสมายล์ จากนั้นจะมีขั้นตอนการยื่นขออนุญาตจากกระทรวงคมนาคม โดยขั้นตอนต่างๆ ต้องเวลาและทยอยการนำเครื่อง A320 นำเครื่องบินประจำฝูงบิน ซึ่งหากยังไม่เรียบร้อย ต้องต่อใบอนุญาต หรือ AOC ของไทยสมายล์ ที่จะหมดอายุ ในเดือน ม.ค. 2567 ออกไปก่อน แต่เมื่อการควบรวมเรียบร้อย AOC ของไทยสมายล์จะยกเลิก และการบินทุกเส้นทางของไทยสมายล์จะเป็นการบินไทย (TG) แทนทั้งหมด


@มาแล้ว แอร์บัส A350 ลำแรกหลังเข้าฟื้นฟู ลุยเพิ่มความถี่เส้นทางจีน, ญี่ปุ่น

นายชายกล่าวว่า จากที่บริษัทได้ดำเนินการจัดหาเครื่องบิน แอร์บัส A350 จำนวน 11 ลำ ในรูปแบบการเช่าดำเนินการ โดยในปีนี้จะรับมอบรวมทั้งสิ้น 4 ลำ จากแผนเดิมที่จะรับมอบ 6 ลำ เนื่องจากอีก 2 ลำ ยังไม่พร้อมส่งมอบ ซึ่งวันนี้ (12 พ.ค. 66) ได้รับมอบเครื่องบิน แอร์บัส A350 ลำแรกหลังจากบริษัทเข้ากระบวนการฟื้นฟูแล้ว ได้รับนามพระราชทาน “ภูเก็ต” ส่วนลำที่ 2 จะรับมอบเดือน มิ.ย. 2566 โดยทั้ง 2 ลำ จะนำไปบินเพิ่มความถี่ในเส้นทางจีน โดยจะบรรจุเครื่องบิน A350 จำนวน 2 ลำแรก ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566

โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 65 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง (Wide-body aircraft) 45 ลำ และลำตัวแคบ 20 ลำ หรือ (Narrow-body aircraft) ซึ่งให้ไทยสมายล์เช่าช่วง มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.3 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 121.4% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 469.2% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 32.5% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.52 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 245.1% มีสินทรัพย์รวมจำนวน 208,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,267 ล้านบาท (5.2%) หนี้สินรวมจำนวน 266,948 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 2,254 ล้านบาท (0.8%)

ขณะที่บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกระแสเงินสดในมือ 42,915 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 613% โดยในปี 2567 มีหนี้ที่ต้องจ่ายตามแผนฟื้นฟู วงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยมีเจ้าหนี้ทั้งหมด 36 กลุ่ม มียอดหนี้รวม 140,000 ล้านบาท มีระยะเวลาการจ่ายหนี้ถึงปี 2577 โดยปัจจุบันได้ทยอยชำระหนี้ค่าบัตรโดยสาร ซึ่งขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Ticket Refund) ไปแล้ว 13,000 ล้านบาท เหลืออีกประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งจะชำระหมดไม่เกินไตรมาส 4 ปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าแผนในเดือน มี.ค. 2567

ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อย สิ้นงวดไตรมาส 1 ปี 66 ติดลบจำนวน 58,503 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 12,521 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียง ตามแผนฟื้นฟู มีการแปลงหนี้เป็นทุน 37,000 ล้านบาท เพิ่มทุน 25,000 ล้านบาท ส่วนการออกจากแผนฟื้นฟู การบินไทยต้องแข็งแรงพอที่ทำให้นักลงทุนสนใจ และมีมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้น และมั่นใจว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ก่อนสิ้นปี 2567

“ภาพรวมรายได้ กำไร ในไตรมาส 1 ปี 2566 ดีกว่าแผนมาก และทั้งปี 2566 คาดว่าจะดีกว่าแผนแน่นอน ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะมีรายได้ระดับ 1.3-1.4 แสนล้านบาท มีผู้โดยสารรวม 9 ล้านคน มี Cabin Factor เฉลี่ย 77-78% ส่วนปี 2567 ประมาณการรายได้ที่ 1.5-1.6 แสนล้านบาท มีผู้โดยสารรวม 12 ล้านคน มี Cabin Factor เฉลี่ย 77-80%”


นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ตามแผนเครื่องบิน แอร์บัส A350 จำนวน 2 ลำแรก จะใช้ในเส้นทางจีน ซึ่งปัจจุบันการบินไทยทำการบิน กวางเจา 13 เที่ยวบิน/สัปดาห์, เซี่ยงไฮ้ 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์, ปักกิ่ง 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในเดือน ก.ค. 2566 จะเพิ่มเป็นบินทุกวัน เนื่องจากมีเครื่องบินมาเพิ่มความจุรองรับผู้โดยสาร

ส่วนแอร์บัส A350 จำนวนอีก 2 ลำ จะมาใช้ในการเพิ่มความถี่เส้นทางญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2566 เส้นทางโตเกียวจาก 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 21 เที่ยวบิน/สัปดาห์, ฮาเนดะ มี 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ คงเดิม, นาโกยา จาก 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และโอซากา จาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และฮ่องกง จาก 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 21 เที่ยวบิน/สัปดาห์ หลังสนามบินแก้ปัญหาบริการภาคพื้นดิน

@ปีนี้ศึกษาแผนพัฒนา MRO อู่ตะเภาเสร็จ ลั่นพร้อมลงทุนเอง

นายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายกลยุทธ์องค์กร การบินไทย กล่าวถึงการพัฒนา “ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา” (MRO) ว่า บริษัทยังคงเดินหน้า ตามแผนและมติ ครม. ซึ่งล่าสุดได้เข้าหารือกับนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี ถึงแนวทางการดำเนินการ ซึ่งการบินไทยจะสรุปการศึกษาภายในปีนี้ โดยมีพื้นที่ 200 ไร่ เบื้องต้นรูปแบบจะเป็นการลงทุนเองทั้งหมดก่อน เพราะบริษัทฯ มีความพร้อม มีศักยภาพในการลงทุนเอง แต่กรณีมีผู้สนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนด้วยก็พร้อมศึกษาร่วมกัน

@ B777 และ A380 อีก 12 ลำ ขายไม่ออก เจรจา ทอท.ย้ายที่จอดหลังเปิด SAT-1

นายชาย มีคุณเอี่ยม กล่าวว่า ขณะนี้มีเครื่องบินที่ขายได้แล้ว 19 ลำ ระหว่างรอส่งมอบ คือ โบอิ้ง B747 จำนวน 10 ลำ และแอร์บัส A340 จำนวน 9 ลำ ขณะที่ โบอิ้ง B 777-300 จำนวน 6 ลำ อยู่ระหว่างทำสัญญากับผู้ซื้อ ส่วนที่ยังรอการขายมี 12 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง B777-200 จำนวน 6 ลำ และแอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ ซึ่งเครื่องบินที่ปลดระวางรอจำหน่ายจอดอยู่ทั้งที่สนามบินดอนเมือง อู่ตะเภา และสุวรรณภูมิ ซึ่งได้หารือกับนาย กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ในการปรับพื้นที่เพื่อย้ายจุดจอดเครื่องบิน กรณีสนามบินสุวรรณภูมิจะมีการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1)

นอกจากนี้ ตามแผนฟื้นฟูจะมีการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างขายภายในประเทศ คือ สำนักงานขายเชียงใหม่ พิษณุโลก ต่างประเทศ มีสำนักงานและบ้านพัก ที่ลอนดอน, ฮ่องกง, ปีนัง คาดจะมีรายได้อีกหลายร้อยล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น