รองปลัดกระทรวงคมนาคมร่วมกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการ U.S.-Southeast Asia and Pacific Aviation Cooperation Program (SEAP ACP) หัวข้อ “เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน” ย้ำยุทธศาสตร์คมนาคมขนส่งไทย 20 ปี มุ่งลดปล่อยก๊าซคาร์บอน
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนกระทรวงคมนาคมร่วมกล่าวในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการ U.S.-Southeast Asia and Pacific Aviation Cooperation Program (SEAP ACP) ภายใต้หัวข้อ "เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน" (Sustainable Aviation Fuel : SAF) โดยมี Mrs. Gwen Cardno อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานด้านอากาศยานจากภาครัฐและภาคเอกชนในภูมิภาคอาเซียนและสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมพิธีฯ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรม Conrad Bangkok ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้นตามนวัตกรรมที่ทันสมัย ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะเรือนกระจกกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2580 โดยมีกรอบแนวคิดหลัก 3 ด้าน
คือ การขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Safe Transport) การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) และระบบคมนาคมขนส่งที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค (Inclusive Transport) รวมถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ตามที่ที่ประชุมสมัชชาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมัยที่ 41 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ได้รับรองเป้าหมายการดำเนินการตามปณิธานระยะยาว (Long-Term Aspirational Goal : LTAG) สำหรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบินระหว่างประเทศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593
จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานประชุมฯ ในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่เพียงเฉพาะภาคการบินพลเรือนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงภาคการเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ในการสนับสนุนวิสัยทัศน์เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ SAF เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของ LTAG ต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมฯ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-25 พฤษภาคม 2566 โดยองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration : FAA) และสำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Trade and Development Agency : USTDA) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนทิศทางการเติบโต และอนาคตของการใช้งาน SAF ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการบินเกี่ยวกับพลังงานในประเด็นต่างๆ เช่น บทบาทของหน่วยงานด้านนโยบาย และกฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการพัฒนา และกระบวนการผลิต เป็นต้น