xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม ปตท.แกร่งกำไรรวมไตรมาส 1/66 พุ่ง 10% ลุ้นครึ่งปีหลังนี้ธุรกิจปิโตรเคมีฟื้นตัวดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.และ 6 บมจ.ในเครือได้ประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2566 พบว่ามีถึง 4 บริษัทที่มีผลกำไรสุทธิลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และมีเพียง 3 บริษัทที่มีผลกำไรสุทธิเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อรวมกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2566 ของ ปตท.และ 6 บมจ.ในเครืออยู่ที่ 56,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.67% เมื่อเทียบจากช่วงไตรมาส 1/2565

นำทีมโดย บมจ.ปตท. (PTT) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 27,855 ล้านบาท โตขึ้น 12.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามมาด้วย บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิ 19,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) โชว์กำไรสุทธิ 1,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดย ปตท.มีรายได้จากการขายในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 756,690 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายลดลง ตามปริมาณขายของธุรกิจปิโตรเคมีที่ลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุง รวมทั้งราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงรายได้ของกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศลดลง ขณะที่กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก และกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากปริมาณขายที่เพิ่มแม้ว่าราคาขายเฉลี่ยลดลง กลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหลักจากการรับรู้ รายได้จากธุรกิจยาที่เพิ่มขึ้นจากจากบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) มีรายได้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก SPP ตามค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) และราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น

ในไตรมาส 1/2566 ปตท.มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 104,008 ล้านบาท ลดลง 26.2% จากไตรมาส 1/2565 โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ซึ่งมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น และผลการดำเนินงานของธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง เช่น กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีผลการดำเนินงานลดลงจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ มาจากปริมาณการขายลดลงและต้นทุนค่าเนื้อก๊าซสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเติบโตขึ้น ตามปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และในไตรมาสนี้มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ที่ลดลง และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ไตรมาส 1/2566 ปตท.มีกำไรสุทธิจำนวน 27,855 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2/2566 ปตท. ส่อแววมีกำไรลดลง เนื่องจากราคาก๊าซฯลดลง ขณะที่ค่าการกลั่นในไตรมาส 2 นี้ก็อ่อนตัวลง มีผลกระทบต่อกำไรกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นรวมถึงธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ส่วนธุรกิจน้ำมันยังได้อานิสงส์จากค่าการตลาดยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ปตท.คงเฝ้าติดตามปัจจัยเสี่ยงภายนอกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานและปิโตรเคมีลดลง รวมไปถึงความผันผวนของราคาน้ำมัน

อย่างไรก็ดี ในปีนี้ ปตท.คาดว่าจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจร (Spot) ราว 100 ลำเรือหรือคิดเป็นปริมาณ 6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีการนำเข้า LNG ประมาณ 53 ลำเรือคิดเป็น 3.3 ล้านตัน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งราคา Spot LNG ล่าสุดลดต่ำลงมาอยู่ที่ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากปีก่อนที่เคยสูงถึง 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่ง กกพ.เห็นชอบในการจัดหานำเข้า LNG เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) จ่อปรับลดลงในงวดสิ้นปีด้วย ขณะเดียวกันรับรู้กำไรจากธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นจากบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) เป็นต้น

ส่วนโครงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) ผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในเครื่องบินนั้น คาดปีนี้จะได้ข้อสรุปเรื่องการร่วมทุน โดยพันธมิตรที่จะมาจากต่างประเทศจะต้องช่วยจัดหานำเข้าน้ำมันพืชใช้แล้ว รวมทั้งกากน้ำมันปาล์ม เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิต ป้อนให้กับสายการบินที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ที่บังคับให้เติม SAF ผสมน้ำมัน JET ภายในปี 2568 โดยโครงการนี้จะเป็นการร่วมทุนของกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วย ปตท. TOP PTTGC OR IRPC และพันธมิตรต่างชาติ


ปตท.สผ.หั่นเป้าขายปิโตรเลียมปีนี้ลง 3%

ด้านบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) ยังคงมีบทบาทสำคัญช่วยหนุนผลการดำเนินงานของ ปตท.อย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/2566 ปตท.สผ.มีกำไรสุทธิ 19,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 83.3% จากงวดเดียวกันปีก่อน มาจากรายได้การขายที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1 นี้มีปริมาณการขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 460,817 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 50.01เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีราคาขายเฉลี่ย 51.35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 พบว่าปตท.สผ.มีปริมาณขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวลดลง จากไตรมาส 4/2565 ที่อยู่ระดับ 500,456 บาร์เรลเทียบเท่าน้ํามันดิบต่อวัน สาเหตุจากปริมาณขายจากโครงการต่างประเทศ รวมถึงราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าด้วย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาเงินเฟ้อสูง กดดันความต้องการใช้และราคาน้ำมันในครึ่งหลังปี 2566 อีกทั้งบริษัทปิดซ่อมบำรุงแหล่งเบญจมาศ (B7/32) ในไทยจากกรณีอุบัติเหตุเรือ FSO และปิดซ่อมบำรุงบางโครงการในมาเลเซีย เป็นเวลา 2 เดือน ทำให้ ปตท.สผ.ตัดสินใจปรับลดปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2566 ลงเหลือ 456,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือลดลง 3% จากปึก่อน ซึ่งตัวเลขปริมาณการขายปิโตรเลียมใหม่นี้ยังต่ำกว่าปี 2565 ที่มีปริมาณขายอยู่ที่ 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบวัน

สำหรับไตรมาส 2/2566 ปตท.สผ.จะมีปริมาณการขายเฉลี่ยอยู่ที่ 437,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีปริมาณการขายเฉลี่ย 460,817 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน สืบเนื่องจากมีปัญหาแหล่งผลิตบางโครงการในประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไข รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านระบบจากสัญญาสัมปทานมาเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในโครงการ G2/61 หรือแหล่งบงกช ทำให้ปริมาณการขายที่จะรายงานได้ต้องสุทธิจากส่วนแบ่งผลผลิตที่ทางรัฐได้รับไปแล้ว ทำให้ปริมาณการขายของแหล่งบงกชลดลง รวมทั้งราคาขายก๊าซธรรมชาติในไตรมาส 2/2566 ก็น่าจะปรับตัวลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตในโครงการ G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในกลางปีนี้ และจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 600 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในสิ้นปี 2566 และช่วงเมษายน 2567 ตามลำดับ ส่งผลให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมนับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะสูงกว่า 500,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รวมทั้งบริษัทได้ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน โครงการการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) รวมถึงการดักจับคาร์บอนและการนำมาใช้ประโยชน์ (CCU) โดยวางเป้าหมายมีกำไรจากธุรกิจใหม่สัดส่วน 20% ของกำไรสุทธิในปี 2573


PTTGC ลุ้นครึ่งหลังปีนี้ธุรกิจฟื้นตัวขึ้น

ส่วน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC ) เป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่ม ปตท.ที่ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้ไตรมาส 1/2566 มีกําไรสุทธิลดลงถึง 97% อยู่ที่ 82 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,596 ล้านบาท โดย PTTGC มีรายได้จากการขายรวม 147,248 ล้านบาท ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นของโรงกลั่นภายหลังเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงและราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่ค่อยๆฟื้นตัว ภายหลังการกลับมาเปิดประเทศของจีน โดยไตรมาสนี้มี Adjusted EBITDA อยู่ที่ 9,530 ล้านบาท ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษมีการอ่อนตัวลง ขณะเดียวกันบริษัทรับรู้ส่วนแบ่งการขาดทุนจากบริษัทร่วมทุนในไตรมาสนี้จำนวน 152 ล้านบาท และมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและรายการกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับรวม 1,359 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 4,884 ล้านบาท

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังคงเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีการคว่ำบาตรพลังงานของรัสเซีย ปัญหาเงินเฟ้อ และความกังวลเศรษฐกิจถดถอย ทำให้มีการปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.8% ขณะเดียวกัน การเปิดประเทศจีนมีการใช้ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากจีนยังมีกำลังการผลิตใหม่ที่เกินความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ จึงกดดันราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่

ทำให้แนวโน้มผลประกอบการ PTTGC ในไตรมาส 2/2566 ดูไม่สดใสนัก แต่ก็น่าจะดีกว่าไตรมาสแรกปีนี้ เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามา และ Market GRM โรงกลั่นปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่คาดว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังปี 2566 โดยจีนยังคงมีความต้องการใช้ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปิโตรเคมีน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้ง PTTGC มีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นด้วย และมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานน้อยลงกว่าปีก่อนด้วย โครงการปรับปรุงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการรับวัตถุดิบคือโพรเพนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 2566 PTTGC มีรายได้เติบโตกว่าปี 2565 ที่มีรายได้ 687,899.45 ล้านบาท

สำหรับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2566 ประเมินว่าอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากไตรมาสแรกปีนี้ที่ราคาน้ำมันดิบปิดที่ 78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลกระทบต่อการขาดทุนหรือกำไรจากสต๊อกน้ำมันในบางไตรมาส


TOP เผย GRM ไตรมาส 2 ส่อแววลด

ด้านผลประกอบการไตรมาส 1/2566 บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีกำไรสุทธิ 4,554 ล้านบาท ลดลง 36.60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7,183 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 147 ล้านบาท มาจากภาพรวมธุรกิจที่ดีขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบยังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากราคาเฉลี่ยไตรมาส 4/2565 หลังจากตลาดคลายความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบตึงตัว ประกอบกับความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้บริษัทฯ ยังต้องรับรู้ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างราคาน้ำมันดิบที่ใช้กลั่นจริงเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ (Crude Premium) ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญก็ได้ปรับลดลงตาม ทำให้ธุรกิจการกลั่นยังมีผลการดำเนินงานที่ดี ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียปรับตัวสูงขึ้น หลังประเทศจีนเปิดประเทศ และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานเองก็มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากการเดินเครื่องผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ในไตรมาส 4/2565 ส่วนธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาดนั้นมีอัตรากำไรขั้นต้นลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวลดลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันอยู่ที่ 11.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส2นี้ ค่าการกลั่น (GRM) จะอ่อนตัวลงตาม Crack Spread ของน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากรัสเซียและจีนมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บางโรงกลั่นเริ่มลดกำลังการกลั่นลง ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์เริ่มปรับดีขึ้น

IRPC ส่งสัญญาณ Q3 ปิโตรฯ ฟื้นตัวชัดเจน

สำหรับ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2566 ลดลง 80% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ 301 ล้านบาท สาเหตุหลักที่กำไรลดลงมาจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมันจำนวน 1,742 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันจำนวน 5,786 ล้านบาท มี Accounting GIM ลดลง 4,549 ล้านบาท หรือ 46% ส่งผลให้มี EBITDA จำนวน 2,020 ล้านบาท ลดลง 4,580 ล้านบาท หรือ 69%

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2/2566 คาดว่ากําไรปกติอาจจะปรับลดลงจาก Crack Spread ของน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก สวนทางกับสเปรดน้ำมันเบนซินที่ค่อนข้างดีเพราะเข้าสู่ช่วง Driving Season ซึ่งในไตรมาส 2 นี้บริษัทมีโอกาสเกิดการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันผันผวน ปัจจุบันราคาเฉลี่ยน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นไตรมาส ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 3/2566 เป็นต้นไป แม้ว่าไตรมาส 2 นี้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับสูงขึ้น แต่ราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่มีสต๊อกสินค้าระดับสูง โดยปีนี้ IRPC จะมีอัตราการกลั่นที่ระดับ 1.95 แสนบาร์เรลต่อวัน


OR คาดไตรมาส 2 โตต่อเนื่อง เหตุค่าการตลาดดี

ด้าน บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ในไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 2,975 ล้านบาท ลดลง 22.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนกว่า 100% โดยมีรายได้อยู่ที่ 197,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.4% โดยกลุ่มธุรกิจ Mobility มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่ฟื้นตัว โดยหลักจากน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน รวมทั้งปริมาณจำหน่ายและกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Global ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจำหน่ายและกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตร โดยหลักจากประเทศกัมพูชา และลาว ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มเล็กน้อย

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่ามีกำไรลดลง สาเหตุมาจากราคาน้ำมันในไตรมาส 1/2566 ที่ปรับตัวลดลงสู่ภาวะปกติเปรียบกับช่วงไตรมาส 1/2565 ที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปเหนือระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ในไตรมาสนี้บริษัทกำไรจากสต๊อกน้ำมันที่ลดลง

แนวโน้มผลการดำเนินงาน OR ในไตรมาส 2/2566 คาดว่าดีขึ้น เนื่องจากค่าการตลาดปรับตัวดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทําให้ต้นทุนปรับลดลงเร็วกว่าราคาขาย ส่วนปริมาณขายยังดีต่อเนื่องรวมถึงน้ำมันอากาศยาน (Jet) ที่เติบโตตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่วนธุรกิจ Lifestyle ทางบริษัทยังคงกลยุทธ์ควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ให้สูง ขณะเดียวกันได้ร่วมกับ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ “กาแฟพร้อมดื่ม คาเฟ่ อเมซอน” และ “ฮารุ โคลด์บรูว์ กรีนที” ถือเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มทำให้รายได้และมาร์จิ้นกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น


GPSC เร่ง M&A ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ตบท้ายด้วย บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่มีผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566 ออกมาดี มีกำไรสุทธิ 1,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้อยู่ที่ 27,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% สาเหตุหลักที่กำไรเพิ่มขึ้นมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ของงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ที่สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ทำให้มาร์จิ้นจากการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากถูกควบคุมให้ต่ำกว่าปกติในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าเก็คโค่วันที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (AEPL) เพิ่มขึ้น เว้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่รับรู้ผลขาดทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 25% ส่วนค่าใช้จ่ายในด้านการขายและบริหารลดลงและความสำคัญในการ Synergy เพื่อบริหารจัดการด้านการผลิต ลดต้นทุน และใช้โครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน

สำหรับไตรมาส 2 นี้ แม้ว่าจะมีการปรับค่า Ft ลดลงสู่ 0.9119 บาท/kWh สําหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ขณะที่ราคา LNG ก็ปรับลดลงเรื่อยๆ รวมทั้งราคาถ่านหินก็คาดว่าจะปรับลดต่ำกว่า 300 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้บริษัทมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงเช่นกัน รวมทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน AEPL ประเทศอินเดีย จะพลิกกลับมามีกําไรที่ 200 ล้านบาทในปีนี้จากปีก่อนขาดทุนราว 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ GPSC ยังแสวงหาโอกาสในการควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติมทั้งในและต่างประเทศ เน้นพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก รวมทั้งเตรียมเข้าไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้า Gas to Power และพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนามที่เพิ่งประกาศแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ (PDP8) สอดคล้องกับเป้าหมาย ปตท.ที่จะมีกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 2573


กำลังโหลดความคิดเห็น