xs
xsm
sm
md
lg

“จุฬา” รับไม้ต่อแก้ปัญหา "ไฮสปีด" ดันตอกเข็ม มิ.ย. 66 เร่งส่ง "อัยการ" ตรวจร่างสัญญาเพิ่มเงื่อนไข "เหตุสุดวิสัย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เลขาฯ อีอีซี” รับไม้ต่อแก้ปัญหา "ไฮสปีด" พ.ค.นี้ ส่งร่างสัญญาแก้ไข 2 ประเด็น เพิ่มเงื่อนไข "เยียวยาเหตุสุดวิสัย" และปรับแบ่งจ่ายค่าแอร์พอร์ตลิงก์ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนรอชงรัฐบาลใหม่เคาะ ขณะที่คาด มิ.ย.ออก NTP เริ่มก่อสร้างได้ ส่วนเงื่อนไขอื่นยังเจรจาคู่ขนาน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก (EEC Project List) ว่า ขณะนี้ถือว่าโครงการมีความล่าช้าจากแผน เพราะยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง และอาจจะส่งผลให้แล้วเสร็จหลังปี 2570 เนื่องจากต้องเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ให้ได้ข้อยุติก่อน ซึ่งการร่วมลงทุน (PPP) รัฐและเอกชน ถือว่าเป็นพาร์ตเนอร์กัน มีเป้าหมายเพื่อให้โครงการสำเร็จ โดยพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง ขณะนี้เจรจายังไม่เสร็จ แต่ก็ยังไม่เคยได้ยินว่าฝ่ายรัฐหรือเอกชนจะขอยกเลิกสัญญาแต่อย่างใด

โดยประเด็นที่มีการขอแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ รถไฟเชื่อม 3 สนามบินนั้น ที่ผ่านมาคู่สัญญาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) ได้มีการเจรจากัน โดยจะเพิ่มเติมข้อความในเงื่อนไขสัญญา “กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือมีสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น กรณีเกิดสถานการณ์โควิด-19 โรคระบาด จะสามารถเจรจาและแก้ไขสัญญาได้” โดยถือเป็นการผ่อนผัน หรือเยียวยาได้ เนื่องจากในสัญญาเดิมซึ่งลงนามก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19 ไม่ได้ระบุไว้ ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้นต้องเพิ่มข้อความนี้ในสัญญาก่อน

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ได้เห็นชอบ 2 ประเด็นแล้ว คือ หลักการกรณีผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ให้เหมือนกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือ และ เห็นชอบประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท.อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท รวมเป็น 11,717.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย


@รฟท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ คาด มิ.ย. 66 ออก NTP เริ่มก่อสร้าง-เหลือแค่เงื่อนไขเอกชนขอ "บีโอไอ"

ขณะที่มีการกำหนดส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ภายในเดือน มิ.ย. 2566 นั้นน่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ เนื่องจากเป็นดำเนินการภายใต้สัญญาเดิม โดย รฟท.มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้วตามเงื่อนไข โดยเหลือประเด็นเดียว คือเอกชนต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้แล้วเสร็จก่อน

ส่วนประเด็นที่เอกชนขอปรับเงื่อนไขให้รัฐชำระค่าร่วมลงทุน วงเงิน 118,611 ล้านบาท เร็วขึ้น แบบสร้างไป-จ่ายไป จากเดิมที่กำหนดชำระเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ นั้นก็สามารถเจรจาคู่ขนาน และหากได้ข้อยุติหลังจากแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม เรื่องเหตุสุดวิสัยแล้ว หากต้องมีการแก้ไข เยียวยาที่เป็นการใช้สิทธิ์ตามสัญญาที่มีการเพิ่มถ้อยคำเหตุสุดวิสัยไว้แล้วก็สามารถทำได้

@พ.ค.ส่งร่างสัญญาแก้ไขให้ "อัยการสูงสุด" ตรวจสอบ

ทั้งนี้ ล่าสุดบอร์ด รฟท.เห็นชอบตามที่ บอร์ดอีอีซีมีมติใน 2 ประเด็นแล้ว และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบหลักการแล้ว ขณะนี้คณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย คือ สกพอ. รฟท. และเอกชน อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดของสัญญา คาดว่าจะส่งร่างสัญญาที่ปรับแก้ไขให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบได้ประมาณเดือนพ.ค. 2566 โดยอัยการสูงสุดจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1 เดือน หลังอัยการสูงสุดส่งร่างสัญญากลับมาจะเสนอบอร์ดอีอีซีเห็นชอบก่อน จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่


@แก้สัญญา "เมืองการบินอู่ตะเภา" ไร้ปัญหา รอกองทัพเรือประมูลสร้างรันเวย์

นายจุฬากล่าวถึงโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า เป็นอีกโครงการที่เอกชน (บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA)) ขอแก้ไขสัญญาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสัญญา อู่ตะเภา มีการระบุเหตุสุดวิสัยไว้แล้ว จึงเป็นการแก้ไขด้วยการบริหารสัญญา ซึ่งจะทำได้คล่องตัวกว่า สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้แนวโน้มที่จะออก NTP เริ่มก่อสร้างสนามบินได้ก่อน โดยมีกรณีที่เงื่อนไข กองทัพเรือ ต้องออกประกาศเปิดประมูลก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ก่อน ซึ่งเรื่องนี้รอรัฐบาลใหม่พิจารณางบประมาณ 2567 เพื่อดำเนินการเท่านั้น

ส่วนการปรับแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา จากเดิม 4 ระยะ เป็น 6 ระยะ โดยเริ่มจากเฟสแรก ที่ 12 ล้านคน/ปีก่อน โดยหากจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 80% ของความจุ จึงจะเริ่มพัฒนาเฟสต่อไป โดยเป้าหมายสุดท้ายคือรองรับที่ 60 ล้านคนเท่าเดิม ซึ่งการเจรจาได้ข้อยุติแล้ว

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ในพื้นที่อีอีซีนั้นจะนำข้อมูลมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเดิมได้มอบให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยสงวนพื้นที่ให้การบินไทยเหมือนเดิมประมาณ 200 ไร่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แม้การบินไทยจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว เพราะเป็นการให้สิทธิ์ในฐานะเป็นนิติบุคคล ส่วนพื้นที่อีกประมาณ 300 ไร่ ยังต้องรอความชัดเจนของนักลงทุน ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวจากโควิด-19 ยังไม่กลับเป็นปกติ ดีมานด์ยังไม่เท่าปี 2562 ซึ่งจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาเพราะเป็นเรื่องการบริหารโอกาสทางธุรกิจด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น