กรมการค้าต่างประเทศเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ GSP เดือนม.ค. 66 มีมูลค่า 281.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 0.63% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 53.56% สหรัฐฯ นำโด่งใช้สิทธิ์สูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 94% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ได้สิทธิ์ GSP ทั้ง 4 ระบบ ระบุส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ แชมป์ใช้สิทธิ์ส่งออกสูงสุด คาดยังดีต่อเนื่องหลังสหรัฐฯ ตอบโต้ด้านภาษีกับจีน
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงสถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบที่ไทยได้รับอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เดือน ม.ค. 2566 ว่า การใช้สิทธิ์มีมูลค่ารวม 281.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.63% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 53.56% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 525.92 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยที่ใช้สิทธิ์ GSP มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 94% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ์ GSP ทั้ง 4 ระบบ
สำหรับการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกแต่ละระบบมีการใช้สิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 264.77 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 0.83% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 56.42% จากมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 469.28 ล้านเหรียญสหรัฐ การใช้สิทธิ์ส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่า 15.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16.90% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 29.08% จากมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 53.12 ล้านเหรียญสหรัฐ นอร์เวย์ มูลค่า 1.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 22.14% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 54.44% จากมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 2.26 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช มูลค่า 0.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 66.78% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 18.16% จากมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 1.26 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนสินค้าสำคัญที่มีการส่งออกโดยใช้สิทธิ์ GSP พบว่า สินค้าที่ใช้สิทธิ์ส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุดอันดับ 1 คือ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการใช้สิทธิ์ 44.31 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 176.24% โดยสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 1 ของกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP จากสหรัฐฯ และคาดว่าไทยจะมีแนวโน้มการใช้สิทธิ์เพื่อส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าทางด้านภาษีกับจีนอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง เช่น อาหารปรุงแต่ง เลนส์แว่นตาทำจากวัสดุอื่นๆ ที่ไม่ใช่แก้ว หีบเดินทางขนาดใหญ่ กระเป๋าใส่เสื้อผ้า และถุงมือยาง
ขณะที่โครงการ GSP อื่น ๆ มีสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง เช่น ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่าอื่นๆ (สวิตเซอร์แลนด์) ของที่ใช้บรรจุสินค้ารวมทั้งฝาทำด้วยพอลิเมอร์ของเอทิลีน (สวิตเซอร์แลนด์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป (นอร์เวย์) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด และข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯ ได้สิ้นสุดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนการต่ออายุโครงการ ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ์ GSP สหรัฐฯ จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าโครงการจะได้รับการต่ออายุ แต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอใช้สิทธิ์ GSP ในการนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีเมื่อโครงการได้รับการต่ออายุแล้ว