การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นวาระระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศและทุกภาคส่วนเพื่อเร่งแก้ไขรับมืออย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ทำให้มีการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะไฮโดรเจน เป็นพลังงานทางเลือกที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
บมจ.ปตท.นำคณะศึกษาดูงานพลังงานแห่งอนาคต โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจนที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในยุโรป ณ ท่าเรือรอตเทอร์ดาม (Port of Rotterdam : PoR) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ ปตท.ในการเดินหน้าสู่พลังงานอนาคตภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond "ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต" เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่พลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน
ทั้งนี้ ท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เป็นศูนย์กลางการขนส่งและทางเศรษฐกิจที่สำคัญตั้งอยู่ที่เซาท์ฮอลแลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในอดีตท่าเรือดังกล่าวมีการขุดคลองเชื่อมต่อแม่น้ำ Rhine และ Meuse เข้ากับทะเลโดยตรงซึ่งได้มีการปรับปรุงให้ลึกขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งมีการถมทะเลขยายพื้นที่ท่าเรือดังกล่าวเพื่อรองรับการขนส่ง จนได้ชื่อว่าเป็นท่าเรือที่พลุกพล่านมากที่สุดในโลกในช่วงปี พ.ศ. 2505-2547 ต่อมาภายหลังถูกแซงหน้าโดยท่าเรือขนาดใหญ่หลายแห่งของจีน อาทิ ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ หรือแม้กระทั่งท่าเรือสิงคโปร์ก็ตาม อย่างไรก็ดี ปัจจุบันท่าเรือรอตเทอร์ดามยังถูกจัดเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ติดอันดับ 10 ของโลก
ท่าเรือรอตเทอร์ดามมีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย เทศบาลเมืองรอตเทอร์ดามและรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ เป็นท่าเรือที่ทอดยาวเป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร ถูกพัฒนาเป็นท่าเรือทั้งสำหรับสินค้าเหลว LNG สินค้าทั่วไป สินค้าเทกองทั้งแร่เหล็กและถ่านหินจำนวนมาก และตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและถังเก็บ มี 3 โรงกลั่นน้ำมันทั้งเชลล์ บีพี และเอสโซ่อยู่ในพื้นที่ และระบบท่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นด่านการขนส่งสินค้าของทวีปยุโรปที่สำคัญ โดยมีการนำเข้าและส่งออกพลังงานคิดเป็น 13% ของความต้องการพลังงานในทวีปยุโรป
ปัจจุบันท่าเรือรอตเทอร์ดามมีแนวทางการพัฒนาการใช้พลังงานในรูปพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลภาวะ เพื่อมุ่งสู่ท่าเรือที่ยั่งยืน โดยเร่งสร้างกังหันลมในทะเลจำนวนมาก และตั้งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen) ของทวีปยุโรปด้วย เนื่องจากพลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ รวมถึงน้ำมันอากาศยานอย่างยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) และใช้เป็นตัวพาพลังงาน (Energy Carrier) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ PoR ในการลดการปลดปล่อยคาร์บอน 49% ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050
กลยุทธ์ในการพัฒนาท่าเรือรอตเทอร์ดามไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานไฮโดรเจนของยุโรป ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น งท่อก๊าซ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการจัดส่งพลังงาน การพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม โดยมีการติดตั้งกังหันเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตไฟฟ้าไปแยกไฮโดรเจนจากน้ำ เป็นการผลิต Green Hydrogen ในต้นทุนที่ต่ำ ถือเป็นทิศทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุโรปกำลังให้ความสำคัญในการใช้ไฮโดรเจนมาเป็นพลังงาน ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงเป็นไฮโดรเจนและพลังงานสะอาดมากขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการขนส่งให้ใช้พลังงานสะอาด ทั้งทางรถ รถไฟ และเรือ
นอกจากนี้ ยังมีโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ภายใต้ความร่วมมือกับ 3 โรงกลั่นน้ำมันที่จะกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตแล้วส่งผ่านทางท่อเพื่อกักเก็บไว้ในหลุมผลิตที่ทะเลเหนือ ทำให้ไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการกลั่นเปลี่ยนจาก Grey Hydrogen เป็น Blue Hydrogen ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับกลุ่ม ปตท.ที่มีความมุ่งมั่นในการจัดการปัญหาก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน โดยหนึ่งในแผนงานที่สำคัญดังกล่าว คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมด้วยการพัฒนาโครงการ CCS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลายๆ ประเทศวางแผนให้เป็นเทคโนโลยีหลักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณมากกว่าเทคโนโลยีแบบอื่น โดยมี บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เป็นแกนนำโครงการดังกล่าว เบื้องต้นศึกษาความเป็นไปได้ในการนำคาร์บอนไปกักเก็บชั้นหินใต้ดินในโครงการอาทิตย์ภายในปี 2569 ซึ่งโครงการ CCS จะมีส่วนช่วยให้ ปตท.บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050
“ปัจจุบันท่าเรือรอตเทอร์ดามอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดหลายโครงการ เช่น ท่อก๊าซ พลังงานลมจากกลางทะเล ท่าเรือ Energy Carrier หลุมกักเก็บคาร์บอนใต้ทะเลเหนือ โรงงานผลิตไฮโดรเจน รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น ซึ่งความท้าทายในการขนส่งไฮโดรเจนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งขณะนี้มีการขนส่งอยู่ในรูปแอมโมเนีย เพื่อสะดวกขนส่งและมีต้นทุนที่ถูก โดย PoR มีแผนนำถังเก็บ LNG บางส่วนมาใช้เก็บแอมโมเนียด้วย ล่าสุด เรือเดินสมุทร รวมทั้งญี่ปุ่นได้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรโรงก๊าซเทอร์ไบด์สามารถใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงได้โดยตรง โดยไม่ต้องนำแอมโมเนียมาแยกเอาไฮโดรเจนออกมา ดังนั้นแอมโมเนียจึงเป็นทางเลือกพลังงานอนาคตอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ”
เริ่มก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ปลายปีนี้
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โมเดลการพัฒนาท่าเรือรอตเทอร์ดามเป็นท่าเรือสีเขียว (Green Port) ที่เน้นการใช้พลังงานสะอาดทั้งพลังงานหมุนเวียน ไฮโดรเจน และนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นรูปแบบที่ ปตท.นำมาพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเป็นท่าเรือที่มีการใช้พลังงานสะอาดและมีระบบจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการให้การขนส่งทางทะเลมีการใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน ลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสอดรับนโยบายของประเทศไทยที่วางเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2065
ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการถมทะเลในพื้นที่โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และบริษัท GPC International Terminal ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บริษัท PTT Tank ถือหุ้นในสัดส่วน 30% อยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขอใบอนุญาตก่อสร้างของท่าเทียบเรือ F ซึ่งคาดว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย จะสามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเลได้ภายในปีนี้ และบริษัท GPC สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างหน้าท่าเทียบเรือได้ทันทีและจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี พ.ศ. 2568
“แหลมฉบัง เฟส 3” สู่ Green Port
แนวทางการพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้เป็น Green Port แห่งแรกของไทย ประกอบด้วย การใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรภายในท่าเรือ การขนส่งในบริเวณท่าเรือจะใช้รถบรรทุกไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ด้วย
รวมทั้งการใช้พลังงานทางเลือกส่วนใหญ่จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และ Hydrogen Fuel cell เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ รวมทั้งมีการขนส่งผ่านทางรถไฟ และเรือให้มากขึ้นเพื่อขนสินค้าได้จำนวนมาก มีการนำระบบ IT Intelligence มาใช้ในการจัดการพลังงานภายในท่า และจราจร, การบริหารจัดการของเสีย และรีไซเคิลน้ำภายในท่าเรือ เป็นต้น
การตัดสินใจลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ ปตท.ที่มุ่งแสวงหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจ Logistics & Infrastructure โดยโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นโครงการที่เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership) ระหว่าง บริษัท GPC International Terminal และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 35 ปี มีมูลค่าการลงทุนร่วมกันในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งท่าเทียบเรือ F สามารถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี รองรับการนำเข้าส่งออกตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นท่าเรือที่มีความลึกมากที่สุดของท่าเรือแหลมฉบังที่ความลึก 18.5 เมตร สามารถรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ได้ถึง 23,000 ทีอียู
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวนี้สามารถเชื่อมต่อระบบรางจากแหลมฉบังไปยังลาวและจีนในการขนส่งสินค้าไปยังจีนโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนไฮสปีดเทรน หากมีเชื่อมการขนส่งรางคู่ไปยังท่าเรือระนองจะยิ่งทำให้ไทยมีความได้เปรียบในการขนส่งสินค้าจำนวนมากทางเรือจากฝั่งทะเลอันดามันไปยังจีนตอนกลาง ซึ่งการขนส่งทางน้ำจะประหยัดค่าขนส่งได้มากขึ้น นับเป็นข้อได้เปรียบที่ประเทศไทยควรเร่งลงทุนควบคู่กับการพัฒนาท่าเรือระนองให้มีขนาดใหญ่เพื่อรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ได้
โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งเป็นจุดกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค ก้าวสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำของโลก มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 114,000 ล้านบาท โดยจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าจากปัจจุบัน 11 ล้านทีอียูต่อปี (ทีอียู คือ เทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับรถยนต์จากปัจจุบัน 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ทั้งทางรถ รถไฟ และเรืออย่างครบวงจร
ดันไทยเป็นฮับไฮโดรเจนในภูมิภาคนี้
นายอรรถพลกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานไฮโดรเจนในภูมิภาคนี้ว่า ขณะนี้ ปตท.ได้จับมือกับแอควา พาวเวอร์ จากซาอุดีอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการการผลิต Green Hydrogen ในประเทศไทย ขนาดกำลังผลิต 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี มูลค่าการลงทุน 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดของไทยและภูมิภาคอาเซียน พร้อมขยายโอกาสการส่งออกพลังงานสะอาดในระดับสากล คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566 โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นอุตสาหกรรมหลอมโลหะ และกลุ่มที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด
ทั้งนี้ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นฐานการผลิต Green Hydrogen และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ในอนาคต ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน โดย Green Hydrogen เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากการนำพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำโดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยพร้อมสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ได้อย่างแท้จริง
ในการรุกธุรกิจไฮโดรเจน ปตท.ได้ร่วมกับ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TDEM) และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา-ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต
ปตท.ได้ร่วมสนับสนุนการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบอัดบรรจุก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งการสร้างสถานีบริการไฮโดรเจนเพื่อเติมไฮโดรเจนในรถยนต์ FCEV รูปแบบ Passenger Car ใช้เวลาเพียง 5 นาที ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ชอบการบริการที่สะดวกรวดเร็ว ในอนาคตจะมีการทดสอบการใช้พลังงานไฮโดรเจนในกลุ่มรถ FCEV ขนาดใหญ่ เช่น รถบัส และรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิง สามารถเพิ่มรอบการขนส่ง
ปตท.ผนึกพันธมิตรทำ Smart Grid ในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ
นอกจากนี้ ปตท.พาคณะศึกษาดูงานชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ Schoonschip ซึ่งเป็นชุมชนที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยยุคใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งตั้งอยู่ในคลอง Johan van Hasselt ทางเหนือของกรุงอัมสเตอร์ดัม ออกแบบโดย Space&Matter สำนักงานสถาปนิกสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เริ่มโครงการนี้เมื่อ 12 ปีก่อน ปัจจุบันชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะต้นแบบนี้มีอยู่ 30 ยูนิต โดยแต่ละยูนิตอยู่ร่วมกัน 2 ครอบครัว รวมเป็น 46 ครอบครัว มีสมาชิกรวมทั้งสิ้นราว 150 คน ซึ่งรูปแบบบ้านแต่ละหลังจะแตกต่างกันไป โดยบ้านลอยน้ำแต่ละหลังจะติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาราว 22 แผงเพื่อผลิตไฟฟ้าโดยมีแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ยามต้องการ
รวมทั้งไฟฟ้าที่เหลือใช้ก็มีการแลกเปลี่ยนพลังงานภายในชุมชนผ่านระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart Grid) รวมทั้งมีระบบกักเก็บน้ำฝนบนหลังคาเพื่อหมุนเวียนใช้งานในบ้าน โดยมีเครื่องทำน้ำร้อนอยู่ในชั้นล่างสุดของบ้านใต้คลองที่เชื่อมกับระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อเปลี่ยนอุณหภูมิของน้ำให้เหมาะสมแต่ละฤดูกาลเพื่อให้บ้านมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้บ้านแต่ละยูนิตไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศและเตาผิง รวมทั้งมีการส่งน้ำเสียจากชุมชนไปบำบัดที่ส่วนกลางเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานจากก๊าซชีวภาพด้วย สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตในชุมชนจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน หากไฟฟ้าเกินความต้องการใช้ก็ขายเข้าระบบกริดของการไฟฟ้า แต่หากช่วงพีกที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากก็สามารถซื้อไฟฟ้าจากระบบกริดได้
นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. กล่าวว่า ชุมชนลอยน้ำอัจฉริยะ Schoonschip มีการบริหารจัดการไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านสมาร์ทกริด เช่นเดียวกับ ปตท.ที่ได้ร่วมมือกับ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด (Sertis) ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะด้วยดิจิทัล หรือ “Smart Energy Platform” สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ โดยใช้เทคโนโลยีเอไอ และบล็อกเชน (Blockchain) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้ไฟฟ้าภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ
โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox หรือโครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อหรือขายไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างกันเองได้อย่างเสรีผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ RENEX มากกว่า 20 บริษัท ถือเป็นโครงการนำร่องที่ทำเชิงพาณิชย์
สำหรับงบการลงทุน 5 ปีนี้ (ปี 2566-2570) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 100 วงเงินรวม 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินลงทุนในโครงการที่มีความชัดเจนและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท.แล้ว วงเงิน 100,227 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Businesses) เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปีประมาณร้อยละ 55 โดยมีโครงการหลัก เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 ซึ่งนำก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาแยกเป็นผลิตภัณฑ์อีเทนและแอลพีจี รวมถึงถังเก็บผลิตภัณฑ์อีเทนและสถานีรับจ่ายเพื่อเพิ่มความสามารถในการนำเข้าผลิตภัณฑ์อีเทน รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
ส่วนงบลงทุนอีก 302,168 ล้านบาท เป็นงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ใน 5 ปีข้างหน้าเพื่อการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท.ที่มุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น การลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ การลงทุนในธุรกิจ Life science (ธุรกิจยา Nutrition และอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์) พลังงานหมุนเวียนให้ครบ 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 ตลอดจนการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) โดยมุ่งเน้นในการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
ปัจจุบัน ปตท.อยู่ระหว่างเจรจาร่วมลงทุน (JV) ควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) อย่างน้อย 5 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจใหม่ในต่างประเทศ อาทิ พลังงานอนาคต (Future Energy) คาดว่าปีนี้จะทยอยปิดดีลการลงทุนดังกล่าวได้ภายในปี 2566