xs
xsm
sm
md
lg

ศก.โลกเปราะบางฉุดดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.พ. 66 หดตัว 2.71%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 แตะ 98.89 หดตัว 2.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังเศรษฐกิจโลกเปราะบางโดยเฉพาะศก.คู่ค้าอย่างสหรัฐฯ และยุโรปกระทบต่อการส่งออกไทย สวนทางอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง คาด มี.ค.มีแนวโน้มชะลอตัวต่อ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 98.89 หดตัว 2.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.87% เนื่องจากอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าจากต่างประเทศอ่อนแอลงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางโดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม หลายอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศรวมถึงหลายอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อค่าดัชนีฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัว 6.64% จากการได้รับเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้น การกลั่นน้ำมัน 7.33% จากการผลิตน้ำมันเครื่องบินและแก๊สโซฮอล์จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว น้ำตาล 23.46% จากน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ


ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) ลดลง 35.35% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายทำให้การทำงานที่บ้าน (Work from Home) น้อยลงส่งผลให้ความต้องการลดลงตาม ประกอบกับมีแนวโน้มการใช้ Storage Unit ประเภท Solid State Drive (SSD) ที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ลดลง 56.55% จากคำสั่งซื้อต่างประเทศที่ชะลอตัว และอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกลด 14.47% ที่มีการผลิตลดลงจากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ สศอ.ได้คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม ปี 2566 จะทรงตัวหรือหดตัวลงเล็กน้อย จากอุปสงค์สินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจประเทศสำคัญของโลกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่การบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้จากอานิสงส์ของภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และค่าระวางเรือปรับตัวลง ทำให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางลดลง สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังและติดตาม ได้แก่ รายจ่ายของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น วิกฤตการเงินและเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา และสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศพันธมิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น