การตลาด - เปิด 7 เทรนด์ธุรกิจร้านอาหารปี 2566 พร้อมจับตาปัญหาอีกเพียบในการทำธุรกิจร้านอาหารที่ท้าทายรออยู่ ท่ามกลางตลาดรวมที่คาดว่าจะเติบโต 5% จากมูลค่า 4 แสนล้านบาท ซีอาร์จีเปิดแผนรุก ทุ่ม 1 พันล้านบาทผุดใหม่ไม่ต่ำกว่า 150 สาขา พร้อมเล็งแบรนด์ใหม่ต่อเนื่อง
ตลาดรวมธุรกิจร้านอาหารในไทยมีการเก็บตัวเลขไว้ระบุว่ามีมูลค่าประมาณ 410,000 ล้านบาท อัตราเติบโตสูงมาก 14% ในปีที่แล้ว (2565) และมีการคาดการณ์กันว่าในปี 2566 นี้มูลค่าตลาดรวมจะเติบโต 4-5% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วเนื่องจากปีก่อนหน้าปีที่แล้วอยู่ในฐานที่ต่ำ
จากข้อมูลของธนาคารกสิกรไทยเผยว่า ภาพรวมตลาดร้านอาหารในปี 2565 มีมูลค่า 410,000 ล้านบาท โตขึ้น 14% แบ่งออกเป็น 17 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กาแฟเครื่องดื่ม 30,000 ล้านบาท 2. ส้มตำ 16,000 ล้านบาท 3. พิซซา 8,500 ล้านบาท 4. อาหารญี่ปุ่น 25, 000 ล้านบาท 5. อาหารไทย 12,000 ล้านบาท 6. อาหารย่าง 8,000 ล้านบาท 7. โดนัท 4,100 ล้านบาท 8. คิวเอสอาร์ ไก่ทอด 25,000 ล้านบาท 9. เบอร์เกอร์ 10,000 ล้านบาท 10. ไอศกรีม 7,500 ล้านบาท 11. อาหารจีน 3,000 ล้านบาท 12. หม้อร้อน 20,000 ล้านบาท 13. เบเกอรี 10,000 ล้านบาท 14. อาหารตะวันตก 7,500 ล้านบาท 15. อาหารเกาหลี 3,000 ล้านบาท 16. อาหารสุขภาพและสลัด 5,000 ล้านบาท และ 17. สตรีทฟูด”
แต่แม้ว่าตลาดรวมยังคงเติบโตตามปกติ อีกทั้งในส่วนของปัญหาเรื่องโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่าจะลดน้อยถอยลงไปก็ตาม แต่การทำธุรกิจปีนี้ในภาพรวมยังต้องคำนึงถึงปัจจัยลบอีกมากที่เกิดขึ้น เพราะทุกปัจจัยลบนั้นล้วนแล้วแต่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการทำธุรกิจเช่นกัน
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ผู้นำตลาดที่ติด TOP 3 ของวงการอาหารในไทย ด้วยจำนวนแบรนด์ร้านอาหารที่มากกว่า 20 แบรนด์ สะท้อนมุมมองของสถานการณ์และทิศทางตลาดรวมในปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“ปีนี้ปัญหาหลักๆ มีมาก อย่างเช่น ต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นส่งผลต่อค่าเงิน เรื่องค่าน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อโลจิสติกส์อย่างมาก นอกนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องสงครามรัสเซียกับยูเครนซึ่งยังไม่จบยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และปัญหาเรื่องแบงก์ต่างประเทศที่ล้มอีกที่เพิ่งเกิดขึ้น”
ขณะที่ทิศทางหรือเทรนด์ร้านอาหารในปีนี้สามารถแยกออกมาได้ 7 หัวข้อหลัก คือ
1. ตลาดรวมปีนี้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวมากขึ้นและจะกลับมาใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับสถานการณ์ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิดในปี 2562 ได้
2. พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก เป็นไปในแนวทางแบบ O2O ทั้งการรับประทานในร้าน และดีลิเวอรีที่เติบโตอย่างมากช่วงโควิดระบาด แต่เมื่อโควิดซาลง ดีลิเวอรีจะเป็นอย่างไร และเทกอะเวย์จะเป็นอย่างไร
3. ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ ทั้งจากธุรกิจแบบเดิมและการขยายธุรกิจแบรนด์ใหม่ อาหารเซกเมนต์ใหม่ที่สัมพันธ์กัน
4. แนวทางของการเกิดธุรกิจและช่องทางใหม่ๆ ที่น่าจับตา เช่น ตู้หยอดเหรียญอาหารและเครื่องดื่ม การบริการ 24 ชั่วโมงเพื่อรองรับโอกาสตลาดที่มี เปิดช่องทางแบบแกร็บแอนด์โก รวมไปถึงการขยายแบบอาหารพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุง เป็นต้น
5. การสร้างตำแหน่งของแบรนด์ มีการขยายไปในแนวทางพรีเมียมมากขึ้น เช่น การบริการที่พิเศษแปลกใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า หรือการนำเสนอเมนูที่ใช้วัตถุดิบที่มีความพรีเมียม เช่นหายาก หรืออร่อยพิเศษ
6. เรื่องของบุคลากร และแรงงานทั่วไปจะมีการขาดแคลนเกิดขึ้นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงเกิดโควิดมีการเลิกจ้างพนักงานมาก ซึ่งพนักงานเหล่านั้นต้องไปหารายได้ทำอาชีพอื่นแทน และเมื่อธุรกิจกลับมาเปิดแบบปกติ ทำให้แรงงานไม่เพียงพอ
7. ผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งจากรายใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือรายเดิมที่ขยายพอร์ตมากขึ้น ตลอดจนผู้ที่เคยปิดร้านไป พอโควิดคลี่คลายก็กลับมาเปิดธุรกิจใหม่อีกครั้ง
สิ่งเหล่านี้ ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวและรับมือให้ดี เพื่อสร้างแต้มต่อในการรุกตลาด
“แนวโน้มธุรกิจร้านอาหารปี 2566 ภาพรวมเห็นการฟื้นตัวเต็มที่ จากปัจจัย
โควิด-19 คลี่คลาย ผู้บริโภคออกมาชอป ชิล ชิม หรือรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภค แม้เทรนด์การบริโภคอาหารภายในร้าน (Dine-in) กลับมาคึกคักเติบโต แต่บริการดีลิเวอรี สั่งอาหารผ่านออนไลน์ยังขยายตัวได้ เป็นอัตราชะลอลงชั่วคราวเท่านั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญในการทำตลาดต่อเนื่องกระตุ้นการเติบโต” นายณัฐกล่าว
นายณัฐกล่าวอีกว่า ซีอาร์จีวางเป้าหมายเพื่อกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่กว่าเดิม หรือ GREATER WE สอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ การหาโอกาสใหม่ หรือ New S-Curve เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ ด้วยการลงทุนขยายสาขาใหม่ของร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้น การพัฒนาโมเดลร้านรูปแบบใหม่ การร่วมมือกับพันธมิตรเสริมความแข็งแกร่ง การพัฒนาระบบนิเวศหรือ Ecosystem ต่อยอดธุรกิจ ตลอดจนการร่วมทุน ซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ส่งผลให้บริษัทประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
ปี 2566 บริษัทได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารสู่ ‘ก้าวต่อไปแห่งการเติบโต’ หรือ The Next Chapter of Growth พร้อมวาง 5 กลยุทธ์ ผลักดันการเติบโตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
1. เร่งเติมเต็มศักยภาพการเติบโต (Accelerate Growth Potential) ด้วยการขยายร้านอาหารสาขาใหม่ โดยเฉพาะแบรนด์พระเอกในเครือ เช่น ไก่ทอดเบอร์ 1 เคเอฟซีขณะนี้มีประมาณ 320 สาขา ควบคู่บริการเครื่องดื่มอาริกาโตะ ร้านอานตี้แอนส์ ร้านส้มตำนัว ร้านสลัดแฟคทอรี่ ร้านชินคันเซ็น ซูชิ เป็นต้น ซึ่งทั้งปีตั้งเป้าหมายขยายทุกแบรนด์ไม่น้อยกว่า 150 สาขา โดยใช้งบการลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีประมาณ 1,500 สาขา
ด้วยกลยุทธ์ เช่น การออกเมนูใหม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ตลาด ดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการบริโภค ด้วยการพัฒนาสินค้ากลุ่มพร้อมรับประทาน (Ready to Eat : RTE) ผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง อาทิ ซอส รองรับการซื้อกลับบ้าน
2. สร้างธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโต (Build New Growth Pillar) ใน 2 มิติ ได้แก่ การมองหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งตามแผนงานบริษัทวางเป้าหมายจะเพิ่ม 1-2 แบรนด์ต่อปี ซึ่งมีทั้งการพัฒนาเอง การซื้อแฟรนไชส์ และการร่วมทุน ซึ่งขณะนี้มีการร่วมทุนแล้ว 4 แบรนด์ เริ่มจากปี 2562 เข้าร่วมทุนกับแบรนด์สลัดแฟคทอรี่ ปี 2563 เข้าร่วมทุนกับแบรนด์บราวน์ ปี 2564 เข้าร่วมทุนกับแบรนด์ส้มตำนัว
ล่าสุดในปีที่แล้วบริษัทได้เพิ่มเติมอีก 3 แบรนด์ใหม่ในพอร์ตโฟลิโอ ได้แก่ ร้าน “ราเมน คาเกทสึ อาราชิ” แบรนด์ดังระดับท็อป 3 ในกลุ่มราเมนเครือข่ายจากประเทศญี่ปุ่นโดยรับแฟรนไชส์เข้ามาดำเนินการ, การเข้าร่วมทุนในแบรนด์ "ชินคันเซ็น ซูชิ" และรุกเข้าสู่ธุรกิจร้านปิ้งย่างภายใต้แบรนด์ “นักล่าหมูกระทะ” ที่เป็นอีกแบรนด์ในเครือของชินกันเซ็นซูชิ
รวมทั้งการขยายโอกาสสู่ตลาดใหม่ในประเทศเวียดนาม รองรับประชากรที่มีขนาดเกือบ 100 ล้านคน เป็นคนรุ่นใหม่ และมีกำลังซื้อขยายตัว โดยมองที่โฮจิมินห์เป็นหลัก อีกทั้งกลุ่มค้าปลีกซีอาร์ซีก็มีการขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างมากมายแล้ว
3. ผนึกพันธมิตรสร้างการเติบโตร่วมกัน (Growth Together with Partnership) สำหรับปี 2566 จะมีการเร่งขยายสาขาของร้านอาหารเพิ่มขึ้นทั้งแบรนด์ชินคันเซ็น ซูชิ ขณะนี้มีประมาณ 40 สาขา ปีนี้เปิดอีก 8 สาขา และแตกแบรนด์มาเป็น แบบโอมากาเซะอีก 2 สาขา และ นักล่าหมูกระทะอีก 2 สาขา สลัดแฟคทอรี่ และส้มตำนัว และบราวน์ ซึ่งในกลุ่มที่ร่วมทุนนี้จะมีการขยายสาขาใหม่รวม 25 สาขา ในทำเลห้างค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล โรบินสัน ตลอดจนการเปิดร้านในรูปแบบ Stand Alone
“ปีที่ผ่านมาบริษัทสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจซีอาร์จี หรือ CRG Ecosystem เปรียบเสมือนการติดอาวุธให้พันธมิตรที่อยู่กับเรา สามารถเชื่อมต่อการใช้งานหรือ Plug & Play ผลักดันการเติบโตของร้านอาหารได้ เช่น ช่วยหาพื้นที่ขยายสาขาใหม่ การทำตลาด การหาพนักงาน สิ่งไหนที่พันธมิตรต้องการเรามี Ecosystem ที่จะช่วยเสริมให้การทำงานง่ายขึ้น”
4. เพิ่มประสิทธิผล (Productivity Growth) ของการทำงานรอบด้าน ด้วยกลยุทธ์ 3C คือ Cost บริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด, Capex เน้นการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ Cash Flow การบริหารกระแสเงินสด ตลอดจนการลงทุน ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ ซีอาร์จียังได้นำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการร้านอาหารมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มนำร่องในบางสาขา เช่น การสั่งอาหารผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Ordering), การนำหุ่นยนต์มาให้บริการในร้าน, การนำเครื่องมือใช้วิเคราะห์ลูกค้า (Business Intelligence) เพื่อเข้าใจและตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงการวางแผนพัฒนาระบบการเสิร์ฟอาหารผ่านระบบสายพาน เป็นต้น
5. ขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของซีอาร์จี ด้วยให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งปี 2566 บริษัทจะให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหลายมิติ โดยทำงานตามหลัก C-R-G เป็น 3 แกน ได้แก่
Care For People ด้านบุคลากร มีการเปิดกว้างรับความหลากหลายของพนักงานเข้าทำงานทั้งด้านเพศ ผู้พิการ เพื่อสร้างความเท่าเทียม การสร้างสมดุลในการทำงานเพื่อให้พนักงานมีความสุข มีความผูกพันกับองค์กร (Engagement)
Reduce Greenhouse Gases มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบแนวคิดจากผู้บริหารสู่การปฏิบัติและลงมือทำของแบรนด์ต่างๆ และปลูกจิตสำนึกให้พนักงานของกลุ่มธุรกิจอาหาร โดยในปี 2565 ซีอาร์จีประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 116 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยได้นำพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มาใช้ในการดำเนินงานในรูปแบบของแผงโซลาร์เซลล์ และยังประสบความสำเร็จอย่างสูงในการลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยความเข้มข้นของค่าพลังงานต่อหน่วยรายได้ (ล้านบาท) ลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 4%
Green Waste & Environment ลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอาหาร บริษัทสามารถควบคุมปริมาณขยะอาหารให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1% และในปีที่ผ่านมา การบริจาคอาหารส่วนเกินยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 44,422 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อย่างไรก็ตาม นายณัฐกล่าวยอมรับว่า จากจำนวนแบรนด์ท้ังหมดที่มีอยู่ มีประมาณ 80% ที่ไปได้ดีและเติบโตดี แต่ก็มีอีกอย่างน้อย 20% ที่อาจจะยังไม่เติบโตมากนัก เหตุผลเป็นเพราะบางแบรนด์เหมาะสมที่จะมีสาขาจำนวนหนึ่งเท่าที่มีอยู่นี้ และไม่เหมาะที่จะขยายไปในทำเลอื่นๆที่ต่างจังหวัดได้ แต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่จะเลิกทำแบรนด์ดังกล่าว ยังทำต่อเนื่องอีก บางแบรนด์เหมือนเล็ก เช่น อาริกาโตั แต่ว่าสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 100 ล้านบาทแล้ว จากกว่า 500 จุดขาย
เซกเมนต์ใหม่ที่ซีอาร์จียังไม่ได้ทำตลาด และน่าสนใจก็เช่น ชาบู ปิ้งย่างเกาหลี เป็นต้น แต่แนวทางที่ซีอาร์จีจะขยายนั้น จะพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ Big อาหารเซกเมนต์นั้นต้องเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่ามากทั้งปัจจุบันและอนาคต, Long อาหารเซกเมนต์นั้นต้องเป็นอาหารที่มีความยั่งยืนในระยะยาวไม่ใช่เป็นแฟชั่นและ Strong ต้องเป็นอาหารที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
โดยสรุปแล้ว การขยายสาขาในปีนี้จะแยกเป็น กลุ่มคิวเอสอาร์ 20 สาขา จากขณะนี้มี 319 สาขา, กลุ่มเฮฟวีฟูด ขยายประมาณ 30 สาขา ขณะนี้มี 357 สาขา, กลุ่มไลต์ฟูด จะขยาย 30 สาขา จากขณะนี้มี 678 สาขา และกลุ่มเครื่องดื่มกับขนมหวาน จะขยาย 70 สาขา จากขณะนี้มี 212 สาขา
“เป้าหมายของปีนี้ เราจะตั้งเป้ารายได้รวมไว้ที่ 15,000 ล้านบาท หรือเติบโต 20% จากปีที่แล้วที่ทำได้ประมาณ 12,800 ล้านบาท” นายณัฐกล่าว
ปัจจุบันซีอาร์จีในฐานะผู้รับสิทธิ (Franchisee) มีแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่หลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกประเภทอาหาร มีจำนวนสาขารวม 1,565 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ เดือน ม.ค. 2566)
แบรนด์ในกลุ่มซีอาร์จี 20 แบรนด์ ประกอบด้วย มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut), เคเอฟซี (KFC), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง ราเมน (Chabuton), โคลด์ สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), ไทยเทอเรส (Thai Terrace), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya), คัตสึยะ (Katsuya), อร่อยดี (Aroi Dee), เกาลูน (Kowlune), สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory), บราวน์ (Brown), อาริกาโตะ (Arigato), ส้มตำนัว (Somtam Nua), ชินคันเซ็น ซูชิ (Shinkanzen Sushi), ราเมน คาเกทสึ อาราชิ (Ramen Kagetsu Arashi) และแบรนด์ใหม่ล่าสุด นักล่าหมูกระทะ (Nakla-mookata) พร้อมบริการดีลิเวอรีอร่อยได้ทุกร้านผ่านโมบายล์แอปพลิเคชัน “FOODHUNT” และโทร. 1312