xs
xsm
sm
md
lg

CRG ชี้ปัจจัยลบยังวนเวียน ทุ่มพันล้านปูพรม 150 สาขา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - CRG ชี้ปัจจัยน่าเป็นห่วงปีนี้อีกเพียบ แม้โควิดซาลง เปิดแผนรุกปี 2566 ทุ่มงบพันล้านบาทขยายสาขาใหม่ทุกแบรนด์ในเครือกว่า 150 สาขา ยังไม่นับรวมกลุ่มร่วมทุนอีกต่างหาก 4 แบรนด์ หวังปั้นรายได้ทะลุ 15,000 ล้านบาท

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ในเครือเซ็นทรัลกรุุ๊ป เปิดเผยว่า ตลาดรวมธุรกิจร้านอาหารรวมในไทยมีมูลค่าประมาณ 410,000 ล้านบาท เติบโต 14% ในปีที่แล้ว (2565) และคาดว่าในปีนี้จะเติบโต 4-5% แต่การทำธุรกิจปีนี้ในภาพรวมยังมีหลายปัจจัยที่น่าเป็นห่วงอีกมาก แม้ว่าในส่วนของปัญหาเรื่องโควิด-19 จะลดน้อยลงไปก็ตาม
 
โดยเฉพาะปัญหาหลักๆ อย่างต้นทุนวัตถุดิบอาหาร อัตราเงินเฟ้อ เรื่องค่าน้ำมันส่งผลกระทบต่อโลจิสติกส์อย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับราคาไปบ้างแต่ไม่มาก อย่างไรก็ตาม จากนี้ก็จะพยายามตรึงราคาให้นานที่สุด อย่างไรก็ตาม หากมีโอกาสบริษัทก็มองไปที่การเข้าสู่ซัปพลายด้วยเช่นกัน อาจจะเข้าไปถือหุ้นบริษัทที่นำเข้าวัตถุดิบอาหาร นอกนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องสงครามรัสเซียกับยูเครนซึ่งยังไม่จบ ปัญหาเรื่องแบงก์ต่างประเทศที่ล้มอีก


แผนธุรกิจปีนี้จะใช้งบลงทุนรวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท (ไม่รวมกับในส่วนของแบรนด์ที่เป็นการร่วมทุน ที่มี 4 แบรนด์คือ บราวน์, สลัดแฟคทอรี่, ส้มตำนัว และชินกันเซ็น) เพื่อขยายสาขาร้านอาหารในเครือโดยรวมที่มีกว่า 16 แบรนด์ที่เป็นของซีอาร์จีเองโดยตรงทั้งแฟรนไชส์และพัฒนาเอง เช่น เคเอฟซี เปปเปอร์ลั้นช์ อานตี้แอนส์ โอโตยะ อะริกาโตะ มิสเตอร์โดนัท โคลด์สโตน เป็นต้น ด้วยการเปิดร้านใหม่มากกว่า 150 สาขาทุกแบรนด์รวมกัน ซึ่งถือเป็นการกลับมาขยายสาขาจำนวนมากอีกครั้งหลังจากที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ปี 2566 นี้ตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 15,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีที่แล้ว (2565) ที่มีรายได้รวมประมาณ 12,800 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่นับรวมกับรายได้ของแบรนด์ที่เป็นการร่วมทุน จากปัจจุบันที่มีสาขารวมกันทุกแบรนด์มากกว่า 1,500 สาขา
อย่างไรก็ตาม แม้ซีอาร์จีจะมีแบรนด์อาหารที่หลากหลาย ก็ยังศึกษาในการขยายแบรนด์และกลุ่มอาหารใหม่ๆ เพิ่มอีกเพื่อเป็นการส่งโอกาสในการเติบโตและการสร้างรายได้ ซึ่งกลุ่มอาหารที่มีความน่าสนใจและทางซีอาร์จียังไม่มี เช่น ชาบู หรือปิ้งย่าง แต่การที่ซีอาร์จีจะลงทุนแนวไหนนั้นจะต้องศึกษาอย่างละเอียดและต้องเป็นตลาดที่เติบโตดีมีความมั่นคง ไม่เป็นการเข้าตลาดเพื่อตามกระแสเท่านั้น โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ Big อาหารเซกเมนต์นั้นต้องเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่ามากทั้งปัจจุบันและอนาคต, Long อาหารเซกเมนต์นั้นต้องเป็นอาหารที่มีความยั่งยืนในระยะยาวไม่ใช่เป็นแฟชั่นและ Strong ต้องเป็นอาหารที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง


นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะขยายตลาดต่างประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งได้เคยมีการศึกษาและเตรียมการมาบ้างแล้ว ตั้งแต่ช่วงการระบาดอย่างหนักก่อนเกิดโควิด แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดอย่างหนักช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจึงต้องชะลอแผนงานไว้ก่อน ซึ่งปีนี้จากที่สถานการณ์ต่างๆ เริ่มผ่อนคลายในทางที่ดีแล้ว ปีนี้ก็จะกลับมาดำเนินการศึกษาและเตรียมการใหม่อีกครั้ง

โดยมองไปที่ตลาดหลักคือประเทศเวียดนามเป็นหลัก เน้นไปที่เมืองโฮจิมินห์ เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพอย่างมาก ค่าจีดีพีก็สูง มีคนวัยทำงานจำนวนมาก กำลังซื้อสูง มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน ประกอบกับร้านอาหารประเภทโมเดิร์นเทรดยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับร้านอาหารประเภทดั้งเดิมหรือเทรดิชันนัลเทรดยังมีอยู่มาก เหมือนเมืองไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

“ตลาดร้านอาหารในเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงการเติบโต แต่ร้านอาหารไทยที่เป็นของคนไทยเองไปเปิดน้อยมากส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ 1 คน 1 ร้านเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นแบบลักษณะเชนที่มีสาขาจำนวนมาก ซึ่งประเภทอาหารที่จะนำไปลงทุนคาดว่าจะเป็นแนวอาหารญี่ปุ่นเช่นซูชิ และอาหารไทย ส่วนกลุ่มคิวเอสอาร์นั้นตลาดมีการแข่งขันค่อนข้างสูงมาก ส่วนโมเดลที่เราจะเน้นก็หลากหลายแล้วแต่ ทั้งการขายแฟรนไชส์ การเข้าไปลงทุนเอง หรือการร่วมทุนกับกลุ่มทุนท้องถิ่น ซึ่งกลุ่มซีอาร์ซีเองก็มีการขยายธุรกิจด้านค้าปลีกในเวียดนามมากมายแล้ว” นายณัฐกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น