ผู้จัดการรายวัน 360 - เทรนด์รักสุขภาพยังพุ่งแรง ดันร้านอาหารเพื่อสุขภาพโต 60% สู่ 8,000 ล้านบาทในปีนี้ “สลัด แฟคทอรี่” ทุ่ม 70 ล้านบาทลุยปี 66 ขยาย 9 สาขาใหม่ สร้างแบรนด์ท็อป ออฟ มายด์ ปักธงรายได้ 700 ล้านบาทในสิ้นปี หรือโตอีก 60% จากปีก่อนทำไว้ 438 ล้านบาท
นายปิยะ ดั่นคุ้ม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ (สลัด แฟคทอรี่) จำกัด บริหารร้านอาหาร “สลัด แฟคทอรี่” ในเครือ CRG เปิดเผยว่า เทรนด์รักสุขภาพยังคงมาแรง ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่ออาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ภาพรวมร้านอาหารเพื่อสุขภาพ (Health & Salad) ปีที่ผ่านมาโตไม่ต่ำกว่า 60% หรือมีมูลค่าถึง 5,000 ล้านบาท และในปี 2566 นี้เชื่อว่าจะโตอีกไม่ต่ำกว่า 60% หรือน่าจะถึง 8,000 ล้านบาท
ปีนี้พบว่ามีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบโลคัลแบรนด์ และอินเตอร์แบรนด์ที่มาจากต่างประเทศ อย่างสิงคโปร์ ที่เข้ามาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของธนาคารกสิกรไทยเผยว่า ภาพรวมตลาดร้านอาหารในปี 2565 มีมูลค่า 410,000 ล้านบาท โตขึ้น 14% แบ่งออกเป็น 17 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กาแฟเครื่องดื่ม 30,000 ล้านบาท 2. ส้มตำ 16,000 ล้านบาท 3. พิซซา 8,500 ล้านบาท 4. อาหารญี่ปุ่น 25, 000 ล้านบาท 5. อาหารไทย 12,000 ล้านบาท 6. อาหารย่าง 8,000 ล้านบาท 7. โดนัท 4,100 ล้านบาท 8. คิวเอสอาร์ ไก่ทอด 25,000 ล้านบาท 9. เบอร์เกอร์ 10,000 ล้านบาท 10. ไอศกรีม 7,500 ล้านบาท 11. อาหารจีน 3,000 ล้านบาท 12. หม้อร้อน 20,000 ล้านบาท 13. เบเกอรี 10,000 ล้านบาท 14. อาหารตะวันตก 7,500 ล้านบาท 15. อาหารเกาหลี 3,000 ล้านบาท 16. อาหารสุขภาพและสลัด 5,000 ล้านบาท และ 17. สตรีทฟูด
โดยกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูง คือ อาหารเกาหลี, อาหารย่าง และอาหารสุขภาพกับสลัด Health & Salad โดยเฉพาะอาหารสุขภาพกับสลัด หรือกลุ่มร้านอาหารเพื่อสุขภาพ มีแนวโน้มเติบโตมากที่สุดเทียบกับทุกกลุ่ม
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มร้านอาหารเพื่อสุขภาพมีผู้เล่นหลักๆ อยู่ 4-5 แบรนด์ ซึ่งสลัด แฟคทอรี่ ติดท็อป 3 ที่มียอดขายสูงสุด โดยปีนี้เข้าสู่ปีที่ 10 จึงมุ่งมั่นตั้งเป้าหมายสู่การเป็นแบรนด์ ท็อป ออฟ มายด์ ด้วยการเป็นทางเลือกแรกๆ ของผู้บริโภคที่จะเลือกใช้บริการอย่างน้อยเดือนละครั้ง หรือสัปดาห์ละครั้งให้ได้ ภายใต้งบการลงทุนและการตลาดรวม 70 ล้านบาทที่จะใช้ในปีนี้
โดยการขับเคลื่อนธุรกิจผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก คือ 1. ขยายสาขาใหม่ 9 สาขา เน้นไซส์ใหญ่ขนาด 120 ตร.ม.ขึ้นไป ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และปีนี้ออกสู่ต่างจังหวัดครั้งแรก ที่เซ็นทรัล พัทยา บีช เปิดให้บริการ เม.ย.นี้ รวมถึงจะมีการพัฒนาร้านโมเดลใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม 2. เร่งสร้างยอดขายให้กับสาขาเดิม ด้วยสินค้าและเมนูใหม่ๆ ขยายเวลาเปิดให้บริการ รวมถึงรีโนเวตสาขาในปัจจุบัน 4 สาขา คือ สาขาแรก ที่บีไฮฟ์ เมืองทองธานี, โรบินสัน ศรีสมาน, ซอยอารีย์ และ ปตท.สายไหม
3. สร้างรายได้จากธุรกิจนอนเรสเตอรองต์ จากธุรกิจน้ำสลัดและสลัดพร้อมรับประทาน ด้วยการทำโอนแบรนด์และการทำ OEM ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้ที่ 50 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 18 ล้านบาท ซึ่งเริ่มทำในปี 2564 เป็นปีแรกและมีรายได้เพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทต้องการบาลานซ์สร้างรายได้ส่วนนี้ไว้ที่ 10% ซึ่งปีนี้น่าจะทำได้ราว 6-7% แล้ว และอีกกว่า 90% มาจากร้านสลัด แฟคทอรี่ 4. เปิดช่องทางการขายใหม่ และการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่องทางดีลิเวอรี โดยตั้งเป้าดีลิเวอรีปีนี้จะโตขึ้นอีก 40% จากปีก่อนโต 30% ขณะที่ในภาพรวมตลาดฟูด ดีลิเวอรี ปีนี้มองว่าน่าจะโตไม่เกิน 5% จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิดที่เริ่มกลับมาปกติ
จากข้อมูลของทางธนาคารกสิกรไทย พบว่าตลาดฟูดดีลิเวอรีปี 2565 มีมูลค่า 79,000 ล้านบาท โตขึ้น 4.5% หรือในปี 2564 มีมูลค่า 75,600 ล้านบาท โตจากปี 2563 ถึง 46.4% อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของแผนการทำตลาด เพื่อให้เป็นแบรนด์ท็อป ออฟ มายด์ นั้นจะมุ่งเน้นไปใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. สิทธิพิเศษที่มากกว่าเดิมที่เราจะมอบให้แก่ลูกค้า ในแบบ Personalization ที่จะมอบสิทธิพิเศษที่ตรงความต้องการที่แตกต่างกันให้แก่ลูกค้า 2. ประสบการณ์ใหม่ที่เราสร้างสรรค์ขึ้น ทั้งในเรื่องของเมนูใหม่ และรูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ และ 3. การสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน โดยจะเปิดให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับการสนับสนุนมาตลอด 10 ปี มั่นใจว่าจะส่งผลให้ภาพรวมรายได้ปีนี้เติบโตขึ้นอีก 60% หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ 700 ล้านบาท จากปีก่อนปิดไป 438 ล้านบาท โตจากปี 64 ถึง 70%