“กระชายเหลือง” เป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่นิยมปลูกมากในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดสตูล สงขลา และตรัง เนื่องจากประชาชนนิยมนำมาประกอบอาหารหรือใช้เป็นเครื่องเคียง ตลอดจนกระชายเหลืองมีองค์ประกอบของสารพิโนสโตรบิน ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้า ปวดเมื่อย และข้อเข่า ทั้งในผู้สูงอายุ คนวัยทำงานที่มีภาวะออฟฟิศซินโดรม และนักกีฬา จึงนิยมนำมาแปรรูปเป็น “ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพและรักษาโรค”
แต่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพและรักษาโรคในท้องตลาดส่วนใหญ่ ผู้ผลิตมักนิยมใช้แอลกอฮอล์และสารเคมีในกระบวนการผลิต ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และทำให้โอกาสในการขยายตลาดไปยังประเทศมุสลิมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
นายธัญเทพ โต๊ะปลัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท อัลบารอกัตไทยเฮิร์บ จำกัด ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและโอกาสดังกล่าว จึงได้พัฒนากระบวนการสกัดกระชายเหลืองร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ด้วยคลื่นไมโครเวฟ โดยไม่ใช้แอลกอฮอล์ในกระบวนการสกัดสารและไม่ใช้สารเคมีอันตราย ทำให้ได้สารพิโนสโตรบินจากธรรมชาติที่มีปริมาณสูง ที่มีคุณสมบัติโดดเด่น ทั้งต้านการอักเสบ ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย และช่วยป้องกันการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฮาลาลจากกระชายเหลืองในรูปแบบเยลลี ที่สามารถบริโภคได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ คนวัยทำงานที่มีภาวะออฟฟิศซินโดรม และนักกีฬา สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจต่อสุขภาพได้เป็นอย่างดี
นายธัญเทพกล่าวว่า ได้เริ่มศึกษาสมุนไพร ตำรายาแผนโบราณ และค้นคว้าหาความรู้จากงานวิจัยต่างๆ ทำให้ทราบว่ากระชายเหลือง (กระชายขาว) นำมาผสมเป็นเครื่องดื่มจะมีสรรพคุณในการรักษาโรคหลายอย่าง เช่น โรคภูมิแพ้ กระดูกเสื่อม กระดูกพรุน เสริมสมรรถภาพทางเพศ ปรับสมดุลฮอร์โมนเพศชายและหญิง จึงได้เริ่มทดลองพัฒนาสูตรและทำเป็นผง ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผลสำเร็จจึงผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฮาลาลจากกระชายเหลืองในรูปแบบเยลลี เพื่อช่วยคนที่เป็นภูมิแพ้ และเพื่อผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมกระดูกเสื่อม”
"การต่อยอดตำรายาแผนโบราณเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฮาลาลจากกระชายเหลือง ไม่เพียงแต่สร้างสินค้านวัตกรรมเข้าสู่ตลาด แต่ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น จากการนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย รวมทั้งสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ จากการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมุสลิมทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง และคิดว่าหลังจากที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นหนึ่งในสินค้าที่เข้าร่วมโครงการ Local+ จะช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นและเปิดตัวสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มากขึ้น" นายธัญเทพกล่าว