ผู้จัดการรายวัน 360 - ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เปิดกลยุทธ์ปี 2566 รุกตลาดด้วย Digital Health Tech และเร่งสร้าง Synergy ผนึก รพ.เครือข่ายทั่วประเทศ และกลุ่มสตาร์ทอัพหลากสาขา เจาะ 3 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พร้อมลุยลงทุนขยายธุรกิจสุขภาพครบวงจรรองรับตลาด Wellness & Aging Society ทั้งใน และต่างประเทศ
นายแพทย์ ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า ปี 2566 THG วางกลยุทธ์มุ่งผนึกความร่วมมือกับ รพ.เครือข่ายและสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพ สร้างโอกาสเชื่อมต่อฐานลูกค้าทุกช่วงวัยบน On site (การรักษาพยาบาลและบริการใน รพ.) และ Online ด้วย Digital Health tech สอดรับเทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังมองหาเฮลท์แคร์ที่มีคุณภาพ โดยตั้งเป้าครอบคลุม 3 กลุ่มสำคัญ
1. กลุ่ม B2C นำ Digital Health Tech มาเพิ่มความสะดวกในการตรวจรักษาและบริการ ควบคู่ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เป็นจุดขายหลัก
2. กลุ่ม B2B มองหาโอกาสจากหน่วยงานและองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการเพิ่มสวัสดิการด้านการแพทย์ให้พนักงาน รวมถึงจับมือกลุ่มบริษัทประกัน กลุ่มสตาร์ทอัพที่ต้องการพาร์ตเนอร์
3. กลุ่ม B2G มองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะสามารถช่วยสนับสนุนภาครัฐ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มี “บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด” รับผิดชอบดูแลธุรกิจบริหารศูนย์หัวใจ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ธนบุรี 2 ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ รพ.พัทลุง รวมทั้งดูแลธุรกิจความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (PPP) ได้แก่ การบริหาร รพ.อบจ.ภูเก็ต และล่าสุด “บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด” ในเครือ THG ก็เพิ่งเปิดให้บริการศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด Horizon Rehab Center
“ปัจจุบันรายได้หลักธุรกิจเฮลท์แคร์ยังมาจากการตรวจรักษาแบบ On site แต่จาก Database พบว่าค่าเฉลี่ยผู้ป่วยโรคทั่วไปจะเข้า รพ.ลดลงจาก 4-6 ครั้งต่อปี เหลือ 2-3 ครั้งต่อปี ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนมีความสนใจ Health Literacy มากขึ้น Online จึงถูกใช้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล นัดหมายก่อนตรวจรักษา รวมถึงตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ รพ. ดังนั้นแนวโน้ม Digital Health Tech จึงสำคัญมากต่ออนาคต THG เพราะธุรกิจเฮลท์แคร์ยุคต่อไปต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นส่วนเสริมของปฏิบัติการทางการแพทย์ได้อย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ ทั้งเชื่อมต่อฐานลูกค้า สร้างรายได้และสร้างแบรนด์ ซึ่งภายใน 5 ปีจากนี้ รพ.ใดปรับตัวได้ก่อนก็จะได้เปรียบ ล่าสุด THG จึงจัดตั้ง บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด รับผิดชอบดูแลธุรกิจเทเลเมดิซีนและการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะ” นายแพทย์ ธนาธิปกล่าว
โดยต้องเร่งสร้างการผนึกกำลังภายในและภายนอกองค์กร โดยภายในองค์กร แบ่งออก 2 ส่วน คือ
1. “บุคลากร” ต้องมีทักษะความเข้าใจ Digital & Innovation เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดทำโครงการ THG Common Room และโครงการ หลงจู๊ Next ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม และสร้างแรงจูงใจดึงคนเก่งเข้ามาร่วมงาน
2. “บริการ” ผนึกความร่วมมือ รพ.เครือข่ายทั่วประเทศ พัฒนา Digital Health Tech อาทิ สร้างการสื่อสาร D2D หรือ Doctor to Doctor ระหว่างแพทย์แต่ละ รพ. ด้วยเทเลเมดิซีน ซึ่งเริ่มทดลองใช้จริงแล้วระหว่างกลุ่ม รพ.กทม. แบะภาคใต้ รวมถึง รพ.ในเมียนมา
ขณะที่ ภายนอกองค์กร จับมือกลุ่มสตาร์ทอัพต่างๆ เช่น นักพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที นักพัฒนาแอปพลิเคชัน กลุ่มบริษัทประกัน ฯลฯ ซึ่งมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา อาทิ ARJARN MORE แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มอาจารย์แพทย์ เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้ารับคำปรึกษาและการออกแบบแผนการรักษาส่วนบุคคลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจาก Tumor board (ทีมสหวิชาชีพฯ) iClaim แพลตฟอร์มช่วยเพิ่มความสะดวกด้านการเคลมประกัน ฯลฯ และ THG ยังคงเปิดกว้างในการรับไอเดียใหม่จากผู้ที่สนใจเข้ามาพัฒนาร่วมกัน
สำหรับการลงทุนขยายธุรกิจในประเทศ ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่ THG ลงทุนเอง อาทิ รพ.ธนบุรี รังสิต อยู่ระหว่างขั้นตอนจัดทำรายงาน EIA และในส่วนที่บริษัทลูกลงทุนซึ่ง THG จะเข้าไปร่วมกำกับดูแลเชิงนโยบายให้มีความ Synergy กับแผนธุรกิจหลัก เช่น การสร้างศูนย์มะเร็ง พร้อมศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัด และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจรที่ปิ่นเกล้า การขยายธุรกิจด้าน Wellness ของ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ จิณณ์ เวลเนส เซ็นเตอร์ และ ธนบุรี เฮลท์ วิลเลจ รองรับการเติบโตของตลาด Aging Society เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศ มองตลาด “เวียดนาม” เพิ่มเติม เพราะเชื่อว่าจะเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับไทยได้ภายใน 10 ปี ด้วยกลุ่มคนชั้นกลางกำลังซื้อสูงจำนวนมากที่มองหาเฮลท์แคร์ที่มีคุณภาพ
“แผนกลยุทธ์ที่วางไว้ คาดว่าจะช่วยสร้างการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% จากปี 2565 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 11,540 ล้านบาท กำไรสุทธิปี 2565 ทำได้ 1,677 ล้านบาท โดยตั้งงบลงทุน CAPEX (Capital Expenditures) ปี 2566 ไว้ที่ 2,000 ล้านบาท และคาดจะใช้ CAPEX รวมประมาณ 5,000 ล้านบาท (ไม่รวม M&A) ภายใน 3 ปี ซึ่งคาดจะส่งผลให้จำนวนเตียงเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 200 เตียง จากปัจจุบันที่ 1,460 เตียง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG กล่าวเสริม