xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยเคนยาบริโภคข้าวเพิ่ม ชี้เป็นโอกาสส่งออกของไทย ทั้งข้าวและเครื่องจักร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะไทยจับตาตลาดข้าวเคนยาหลังมีความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น และมีนโยบายเร่งเพิ่มฟื้นที่เพาะปลูกข้าว เผยมีผลกระทบด้านบวกจะทำให้ไทยส่งออกข้าวไปขายเคนยาได้มากขึ้น มีโอกาสส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูก

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นายณัฐพงศ์ เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไนโรบี ถึงความเคลื่อนไหวของประเทศเคนยาในการเร่งเพิ่มพื้นที่ในการปลูกข้าวเพื่อรองรับความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และผลกระทบด้านบวกและด้านลบต่อการส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดเคนยา

โดยทูตพาณิชย์กรุงไนโรบีได้รายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการบริโภคข้าวในเคนยาเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่าตัว จาก 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในปี 2551 เพิ่มเป็น 23 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปัจจุบัน และเคนยาได้แก้ไขปัญหาด้วยการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ทำให้ยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากปากีสถาน แทนซาเนีย อินเดีย ยูกันดา และไทย โดยปีนี้คาดว่าต้องการนำเข้า 640,000 ตัน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังพบว่าชาวเคนยาจำนวนมากได้หันมาบริโภคข้าวมากกว่าการบริโภคผลผลิตจากข้าวโพดแบบดั้งเดิมอย่างอูกาลี (Ugali คืออาหารพื้นเมืองแอฟริกันทำจากแป้งข้าวโพด) และข้าวอาจกลายเป็นธัญพืชที่มีการบริโภคมากที่สุดในประเทศได้อย่างไม่ยากในอนาคตอันใกล้นี้


นายภูสิตกล่าวว่า จากข้อมูลที่ทูตพาณิชย์รายงานมาจึงเป็นทั้งผลบวกและลบต่อการส่งออกข้าวของไทย แต่ผลบวกจะมีมากกว่า โดยในด้านบวกความต้องการข้าวในปริมาณเพิ่มขึ้น หมายถึงตลาดข้าวที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น และประเทศไทยซึ่งส่งออกข้าวมาเคนยากว่า 600 ล้านบาทในปี 2565 ก็จะมีตลาดมากขึ้นตามไปด้วย และการที่เคนยามีความจำเป็นต้องปลูกข้าวมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องจักรกลทางการเกษตรมีมากขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการเครื่องจักรกลทางการเกษตร หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว สามารถเร่งขยายตลาดการส่งออกสินค้าดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น

ส่วนผลกระทบด้านลบ หากเคนยาสามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกได้จริง และมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นตามที่มีนโยบายแล้ว การส่งออกข้าวไปยังเคนยาของไทยก็จะทำได้ปริมาณลดลง และหากเคนยามีศักยภาพในการปลูกข้าวได้มากจนสามารถส่งออกได้แล้ว เคนยาซึ่งมีค่าแรงและต้นทุนถูกกว่าไทย ตลอดจนได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าที่ได้รับการยกเว้นในตลาดยุโรปหรือสหรัฐฯ ก็จะทำให้ในอนาคตไทยอาจมีคู่แข่งในการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น เพราะข้าวของเคนยามีคุณลักษณะคล้ายคลึงกับข้าวขาวของไทย เวียดนาม กัมพูชาหรือเมียนมา ที่เป็นข้าวพื้นนุ่ม แต่เชื่อว่าคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน

“กรมฯ มีข้อเสนอแนะว่าไทยควรเปลี่ยนมุมมองการส่งออกข้าวไปยังแอฟริกา และหันมาเริ่มมองแอฟริกา ในการก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งได้ในอนาคต มากกว่าที่จะเห็นเป็นเพียงตลาดในการส่งออก และควรหันมาสร้างตลาดในสินค้าใหม่ๆ ที่แปรรูปจากข้าวให้มากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่อาจแข่งขันได้น้อยลงในอนาคต โดยผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่อีเมล์ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke” นายภูสิตกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น