“สุพัฒนพงษ์” ชูผลงานขับเคลื่อนประเทศไทย 8 ปีรัฐบาล "บิ๊กตู่" โดยเฉพาะ 3 ปีช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤตได้เร่งทำงานทั้งเชิงรุกและรับขับเคลื่อนจนผ่านพ้นและก้าวสู่การเติบโตโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไว้อย่างเข้มแข็ง ปรับอุตสาหกรรมใหม่ดึงลงทุน สร้างเชื่อมั่นต่างชาติเปิดตลาดการค้าเพิ่ม พร้อมส่งมอบประเทศที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนให้รัฐบาลหน้ามารับช่วงต่อ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวเปิดงาน Ibusiness Forum 2023 The Next Thailand’s Future : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืนว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไทยเผชิญความยากลำบากอย่างที่ไม่เคยเจอ ทั้งโควิด-19 วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานแพง และขณะนี้ยังไม่จบเพราะกำลังเจอภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่ที่ผ่านมาไทยผ่านมาได้ด้วยดีและพร้อมจะตอบรับเศรษฐกิจใหม่ๆ เข้ามาจนวันนี้เศรษฐกิจไทยค่อยๆเติบโตขึ้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายมั่นใจ และตลอดเวลา 8 ปีของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ครอบคลุมทั่วประเทศที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการวางรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย ที่พร้อมจะส่งมอบประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืนให้กับรัฐบาลหน้ามารับช่วงต่อ
"ปี 53 เราอยู่ในจุดอิ่มตัว ปี 54 เจอน้ำท่วมเราใช้เวลาปี 55-56 ฟื้นโครงสร้างพื้นฐานจากนั้นก็พัฒนาเพิ่มทั้งถนนหนทาง รถไฟฟ้า โครงสร้างดิจิทัล ฯลฯ จนวันนี้มีการกระจายไปสู่ภูมิภาคทั้งเมืองหลักเมืองรองเป็นที่ประจักษ์ และแม้หลายคนจะมองว่าเราเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มก็ต้องเข้าใจว่าไทยไม่ได้พัฒนาสิ่งเหล่านี้มานานจึงเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกันก็พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ควบคู่กันไปเพื่อได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ เราจึงเห็นการเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ผ่านการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) และเขตระเบียง ศก.ภูมิภาคต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบให้เกิดอุตสาหกรรมที่เหมาะสมอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเห็นว่าเราทำงานทั้งเชิงรุกและรับ" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ ไทยก็เร่งส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ อาทิ อุตสาหกรรม BCG ที่ไทยมีศักยภาพอย่างมากและสอดรับเทรนด์โลกที่รัฐบาลผลักดันสู่ความยั่งยืน รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่มีผู้ผลิตรายใหญ่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งมีตัวเลขชี้วัดการลงทุนผ่านการขอรับส่งเสริมการลงทุนปีที่ผ่านมาสูงถึง 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากอีวี อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ฯลฯ และเร็วๆ นี้จะมีคณะนักธุรกิจ 2 คณะจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเข้ามาไทยเพื่อมาดูความร่วมมือและหาโอกาส ก็เป็นตัวชี้ตัวหนึ่งได้เห็นว่าสิ่งที่ทำได้ค่อยๆ ก่อตัวเป็นความเชื่อมั่นการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการเปิดตลาดใหม่ๆ ผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่จะเปิดตลาดให้กว้างขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดตั้งแต่ปี 2566 หลังโควิด-19 เริ่มควบคุมได้
ส่งสัญญาณค่าไฟ พ.ค.-เม.ย.ไม่เกิน 4.72 บาท/หน่วย
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด พ.ค.-ส.ค. 66 จะปรับเป็นอัตราเดียวจากปัจจุบันมี 2 อัตรา เป็นประเภทบ้านที่อยู่อาศัยที่ค่าไฟเฉลี่ยรวม 4.72 บาทต่อหน่วย ประเภทอื่นๆ (ธุรกิจ อุตฯ) 5.33 บาท/หน่วย โดยทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการเตรียมทำประชาพิจารณ์ โดยขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีที่ต้นทุนต่างๆ ลดลง โดยได้ขอให้ กกพ.พิจารณาดูแลไม่ให้เป็นภาระต่อทุกส่วนโดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยจะไม่ปรับขึ้นโดยอาจจะเท่าเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย
ครม.สัปดาห์หน้าปรับมาตรการส่งเสริม EV
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า การประชุม ครม.สัปดาห์หน้าจะมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าชุดที่ 3 หรือ EV3 โดยเฉพาะจะมีการปรับเงื่อนไขการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งมาตรการปัจจุบันกำหนดให้บริษัทรถนำเข้าที่ขอรับเงินอุดหนุนต้องเริ่มผลิตรถชดเชยใน 2 ปี เท่ากับจำนวนการนำเข้า CBU ในอัตราการนำเข้าต่อการผลิตในประเทศที่ 1.0 ต่อ 1.5 คัน โดยจะปรับเป็นภายใน 3 ปีแต่มีเงื่อนไขอัตราส่วนการผลิตทดแทนที่สูงขึ้น เป็นต้น