xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นท่ามกลางความท้าทาย-แนะปรับโครงสร้างรับโตยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นท่ามกลางความท้าทาย-แนะปรับโครงสร้างรับโตยั่งยืน

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ Ibusiness จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี “The NEXT Thailand’s Future : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ พร้อมระดมตัวแทนภาครัฐ เอกชน ฝ่ายการเมืองโชว์วิสัยทัศน์ ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวในงานสัมมนา THE THAILAND 'S FUTURE จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน จัดโดย i business ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(KTB) ว่า ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยกรอบการคาดการณ์ของสภาพัฒน์อยู่ที่ 2.7-3.7% มีค่ากลางที่ 3.2% จากการขับเคลื่อนหลักของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงภาคการลงทุนเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในปี 66 ที่ต้องระมัดระวัง โดยเศรษฐกิจโลกส่วสัญญาณชะลอชัดเจนและเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งกระทบส่งออกของไทยอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปลายปีก่อน และจะยังมีผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้ ทำให้ในปีนี้คาดว่าการส่งออกมีโอกาสติดลบ

ด้านอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึง 6.3% ในช่วงที่ผ่านมา โดยหลักๆ เกิดจากต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.ลดลงมาที่ 3.8% และคาดว่าทั้งปีไม่เกิน 3% ซึ่งอยู่ในกรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในครึ่งปีหลังลดลงอย่างชัดเจนขึ้น

"เศรษฐกิจโลกที่ชะลอจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวนสูง และต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดได้รับผลกระทบทั้งในภาคการส่งออก และความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ แต่ผลกระทบดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างเวียดนามส่งออกติดลบ 7.2% ในไตรมาส 4 ปีก่อนเช่นกัน ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นว่าในอนาคตเศรษฐกิจไทยต้องมีการปรับโครงสร้างเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน"

นายดนุชา กล่าวอีกว่า ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาประเทศพัฒนาไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้ช่วงโควิดที่ผ่านมาเราไม่แย่ และเดินหน้าต่อได้ในระดับหนึ่ง แต่ในอนาคตยังมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องปรับ โดยจากแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ของสภาพัฒน์ให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างในด้านต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคเพื่อกระจายรายได้ และลดความหนาแน่นในเมือง รวมถึงสร้างความสมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจจากปัจจุบันที่การส่งออกมีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ประมาณ 50% และการท่องเที่ยวอยู่ในสัดส่วน 10-20% ซึ่งจะต้องมีการเพิ่มศักยภาพด้านผลิตและอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคต

นอกจากนี้ ในระยะต่อไปเป็นช่วงของการเลือกตั้ง ซึ่งต้องดูว่าหลังจากนั้นจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วขนาดไหน เนื่องจากหากมีความล่าช้าจะกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมรับมือเพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจโดยรวม และควรช่วยกันรักษาบรรยากาศไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้




















กำลังโหลดความคิดเห็น