xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยออยล์” อัดงบ 3 ปี 3.5 หมื่นล้าน คาดรายได้ปีนี้สู่ภาวะปกติ 4 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไทยออยล์” อัดงบลงทุน 3 ปีนี้ (ปี 66-68) 3.5 หมื่นล้านบาท เน้นลงทุนโครงการ CFP เพื่อเร่งหน่วยผลิตดีเซลยูโร 5 ให้เสร็จทันต้นปี 67 พร้อมทั้งศึกษาโอกาสการลงทุนธุรกิจ New S-Curve ไม่ว่าจะเป็นไบโอเจ็ต ไบโอพลาสติก รวมทั้งธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม วางเป้าหมายในปี 2573 สัดส่วนกำไรมาจากธุรกิจมูลค่าเพิ่มและ New S-Curve เพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 25% มั่นใจปีนี้โรงกลั่นเดินเครื่องเต็มที่รองรับความต้องการใช้น้ำมันในไทยที่เพิ่มขึ้น ดันรายได้ปีนี้กว่า 4 แสนล้านบาท

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนในปี 2566-2568 อยู่ที่ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 35,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ประมาณ 50% ของเงินลงทุนรวม ขยายโรงไฟฟ้า SPP ที่คาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในเดือนเม.ย. 2566 รวมทั้งลงทุนในโครงการปิโตรเคมีใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) วงเงิน 270 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ก่อสร้างโครงการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมี CAP 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในช่วงกลางปีหรือปลายปีนี้ รวมทั้งใช้ปรับปรุง Facility ในอินโดนีเซียและอินเดีย เป็นต้น โดยปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2 หมื่นกว่าล้านบาท เพื่อเร่งโครงการ CFP ในหน่วยผลิตดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 ให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2567 ตามข้อกฎหมายที่บังคับใช้น้ำมันยูโร 5 ในเดือน ม.ค. 2567 ส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จในปี 2568 ทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน

รวมทั้งในปีนี้บริษัทได้เตรียมความพร้อมขยายตลาดไปต่างประเทศในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย พร้อมทั้งศึกษาต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น ธุรกิจสารเคมีที่ใช้เพื่อยับยั้งและกำจัดเชื้อโรค รวมถึงสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

นายบัณฑิตกล่าวต่อไปว่า ในปี 2566 บริษัทฯ ไม่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น มั่นใจว่าปีนี้จะกลั่นน้ำมันได้เต็มที่ราว 3 แสนบาร์เรล/วัน เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ โดยโครงการ CFP จะทำให้ไทยออยล์สามารถใช้น้ำมันดิบชนิดหนักมากลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้ รวมทั้งขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน ส่งผลให้ค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ (GRM) เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปกติค่าการกลั่นอยู่ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งคาดว่าครึ่งแรกปีนี้ GRM อยู่ที่ระดับ 6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าทั้งปี 2566 บริษัทมีรายได้กลับสู่ภาวะปกติที่ 4 แสนล้านบาทเทียบกับปีก่อนที่ 5.3 แสนล้านบาท มาจากราคาน้ำมันที่สูงผิดปกติ               

สำหรับภาพรวมตลาดน้ำมันในปีนี้เติบโตขึ้นกว่าปีก่อนอย่างแน่นอน โดยความต้องการใช้น้ำมันทุกผลิตภัณฑ์ในช่วงเดือน ม.ค. 2566 โตขึ้น 19% และน้ำมันอากาศยาน (เจ็ต) โตขึ้น 100% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  เนื่องจากมีการท่องเที่ยวฟื้นตัวทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น ทำให้ปีนี้คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันทั้งปีโต 4-5% และน้ำมันเจ็ตโต 50-60% ส่วนปิโตรเคมียังถือว่าปีนี้เป็นปีท้าทาย เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่จากจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และเวียดนามเข้ามาในตลาดมากกว่าความต้องการใช้ปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศจีน กดดันมาร์จิ้นปิโตรเคมี


ทั้งนี้ ไทยออยล์เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจตามยุทธศาสตร์หลัก 3V คือ 1. Value Maximization ต่อยอดจากปิโตรเลียมสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง 2. Value Enhancement เสริมความแข็งแกร่งในประเทศ ขยายตลาดและกระจายสินค้าไปต่างประเทศรองรับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และ 3. Value Diversification ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงและธุรกิจ New S-Curve ไม่ว่าจะเป็นไบโอพลาสติก ไบโอเจ็ต และไบโอเคมิคอล ฯลฯ เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยบริษัทมีเป้าหมายปรับพอร์ตโฟลิโอในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำไรมาจากปิโตรเลียม 40% ปิโตรเคมี 40% New S-Curve 10% และธุรกิจไฟฟ้า 10% มาเป็นสัดส่วนกำไรจากปิโตรเลียม 40% ปิโตรเคมี 30% ธุรกิจมูลค่าเพิ่มและ New S-Curve 25% และธุรกิจไฟฟ้า 5% เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน


นายบัณฑิตกล่าวถึงกรณีที่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เข้าซื้อกิจการ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย )(ESSO) ว่า ต้องพิจารณาว่าการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ได้เพิ่มขึ้นก็ไม่มีผลกระทบต่อไทยออยล์ เนื่องจากบริษัทมีลูกค้าที่รับน้ำมันสำเร็จรูปที่แน่นอนอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) แต่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื่อว่าจะมีการแข่งขันขึ้น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ของไทยที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการกำหนดนโยบายพลังงานต้องต่อเนื่อง อย่างกลับหลัง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายกลับไปกลับมาจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานเป็นอย่างมากและกระทบต่อการลงทุนภาคอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้ไทยเดินหน้าเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น