ทอท.ลุ้น ครม.ไฟเขียวลงทุนบริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้น และคลังสินค้ารายที่ 3 มูลค่ารวม 1.13 หมื่นล้านบาท เร่งประมูลในปีนี้ แก้ปัญหาบริการไม่พอรองรับผู้โดยสาร เที่ยวบินฟื้นตัวเร็ว
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทยมจำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยว่า คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 มี.ค. 2566 จะมีการพิจารณาโครงการให้สิทธิผู้ประกอบการบริการที่สนามบินสุวรรณภูมิ 2 โครงการได้แก่ การให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นการให้บริการผู้โดยสารภาคพื้นและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของผู้ประกอบการรายที่ 3 มูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท และโครงการให้บริการคลังสินค้า ของผู้ประกอบการรายที่ 3 มูลค่าประมาณ 6,500 ล้านบาท
ซึ่งทั้ง 2 โครงการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ได้เห็นชอบหลักการเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 และที่ประชุมคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) เห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ตามขั้นตอนแล้ว
นายกีรติกล่าวว่า หลัง ครม.อนุมัติโครงการ ทอท.จะดำเนินการตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยจัดตั้งคณะกรรมการตามมาตรการ 36 หรือคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อกำหนดเงื่อนไข และดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ
คุณสมบัติผู้ร่วมประมูล เป็นนิติบุคคลไทย ไม่มีคุณสมบัติขัดแย้งตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 ซึ่งบริษัทลูกของ ทอท. คือ บริษัทบริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด หรือ AOTGA จะเข้าร่วมประมูลด้วย คาดว่าจะได้ตัวผู้ร่วมทุนฯ ภายในปี 2566
สำหรับโครงการให้บริการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ ทอท. ทั้ง 2 โครงการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สิทธิประกอบกิจการแก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติม สำหรับการให้บริการที่เกี่ยวข้องในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นการรองรับปริมาณผู้โดยสาร จำนวนเที่ยวบินที่ใช้บริการ และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ ซึ่งเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความไม่เพียงพอในการให้บริการของผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล และจะช่วยดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินของประเทศในระยะยาว
ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้นจำนวน 2 ราย คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS)