xs
xsm
sm
md
lg

“บีโอไอ” เร่งดันแพกเกจ EV-แบตฯ เข้า ครม.ก่อนยุบสภาฯ คาด 14 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บีโอไอ” เร่งสรุปแพกเกจ EV-แบตเตอรี่ คาดบอร์ดอีวีเสนอเข้า ครม.พิจารณา 14 มี.ค.นี้หวังให้ทันก่อนยุบสภาฯ แย้มบริษัทผู้ผลิตชิปป้อนรถ EV รายใหญ่จากสหรัฐฯ-ไต้หวันเตรียมลงทุนตั้งฐานผลิตในไทย ปลื้มผลโรดโชว์สหรัฐฯ ที่ผ่านมา เตรียมบุกจีนต่อ เม.ย. 66 นี้ มุ่งเป้าเซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เสิ่นเจิ้น ดึงการลงทุนจากนักลงทุนรายใหม่จาก EV อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดเผยว่า คาดว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 มี.ค. 66 จะพิจารณาแพกเกจส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ EV ก่อนที่รัฐบาลจะยุบสภาฯ โดยจะมีหลายประเด็นในการพิจารณา ทั้งการอุดหนุนเรื่องของการผลิตแบตเตอรี่ EV และเงื่อนไขการขอขยายเวลาการผลิตรถ EV คืนมากกว่า 2 ปี สำหรับผู้ผลิตรายใหม่ได้หรือไม่ เนื่องจากเงื่อนไขได้กำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการหรือค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตรถ EV ในประเทศชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าช่วงปี 2565-2566 ภายในปี 2567 แต่จะขอขยายเวลาได้ถึงปี 2568 ซึ่งหากไม่สามารถเข้า ครม.ทันจะทำให้เรื่องของนโยบายไม่สามารถทำต่อได้

“ขณะนี้ทีมงานและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำลังเร่งพิจารณาจัดทำรายละเอียดต่างๆ อยู่ โดยคงจะไม่ทันเข้า ครม.วันที่ 7 มี.ค.นี้แต่บอร์ดอีวีน่าจะเสนอได้  14 มี.ค.ก่อนที่จะยุบสภาฯ ซึ่ง EV เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลผลักดันโดยเฉพาะการเป็นฮับ EV ในภูมิภาคที่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกมาใช้ไทยเป็นฐาน เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ (GMW) เอสเอไอซี มอเตอร์ (MG) บีวายดี ออโต้ (BYD) รวมถึงฟ็อกซ์คอนน์ที่ร่วมมือกับ ปตท. ฯลฯ และการตอบโจทย์เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050” หม่อมหลวงชโยทิตกล่าว

สำหรับการลงทุนของไทยนั้นทีมปฏิบัติการเชิงรุกได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ “Better and Green Thailand 2030” เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนมากกว่า 2 ล้านล้านบาท สร้างตำแหน่งงานใหม่ 625,000 อัตรา และเพิ่ม GDP ของประเทศอีก 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยร่วมมือกับบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ล่าสุดบริษัทผู้ผลิตชิปที่จะใช้ในอุตสาหกรรม EV จากไต้หวันและสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตในไทยแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยก่อนหน้านี้จากการไปโรดโชว์ที่อเมริกาที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลก เช่น Google, Western Digital, Analog Devices ล้วนมีแผนขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าไทยมีข้อดีมากกว่าคู่แข่ง

 


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า แผนการดึงลงทุนของบีโอไอ ในเดือน เม.ย. 2566 นี้ เเตรียมเดินทางไปประเทศจีนใน 3 เมืองหลัก คือ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเสิ่นเจิ้น หลังจากที่จีนได้เปิดประเทศ โดยเป้าหมายจะไปเจรจากับกลุ่มนักลงทุนรายใหม่ๆ ทั้งอุตสาหกรรม EV อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ยังรวมไปถึง BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ส่วนแผนจัดกิจกรรมเชิงรุกเจาะกลุ่มเป้าหมายกว่า 200 ครั้ง ทั้งการจัดคณะโรดโชว์จากส่วนกลางและสำนักงานบีโอไอ 16 แห่งทั่วโลก เพื่อเผยแพร่มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่และโอกาสการลงทุนในประเทศไทย การจัดสัมมนารายประเทศ รายอุตสาหกรรม การจับมือกับกลุ่มที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เช่น ธนาคารใหญ่ บริษัทที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรม และหน่วยงานพันธมิตร และการเดินสายพบปะบริษัทสำคัญ

ทั้งนี้ ท่ามกลางวิกฤตแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานผลิตครั้งใหญ่ด้วยจุดแข็งของประเทศไทยทั้งด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง และศักยภาพการเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้านของอาเซียน รวมถึงนโยบายสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ดิจิทัล และพลังงานสะอาด ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้เลือกใช้ไทยเป็นฐานลงทุนธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ได้แก่ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 5 อุตสาหกรรมนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563-2565) รวมกัน 2,687 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น