ปัจจุบันธุรกิจสีเขียว (Green Business) กลายเป็นสิ่งที่ทุกภาคธุรกิจหันมาให้ความสนใจและมุ่งบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่ ด้วยการบริหารทุกทรัพยากรให้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน นับเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ถือเป็นผู้นำด้านธุรกิจสีเขียวตลอดห่วงโซ่การผลิต และกลายเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจรักษ์โลก โดยมี “มาตรฐานฟาร์มสีเขียว” หรือกรีนฟาร์ม (CPF Green Farm) เป็นตัวอย่างความสำเร็จ จากการมุ่งปรับปรุงตลอดกระบวนการเลี้ยงสุกรของบริษัทให้มีมาตรฐาน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นสำคัญ เพื่อให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย โดยเริ่มจากค้นหาแนวทางและเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์นี้จนพบว่า มาตรฐานกรีนฟาร์มคือคำตอบที่แท้จริง
กรีนฟาร์ม กลายเป็นโมเดลเลี้ยงสัตว์รักษ์โลกในแบบฉบับของซีพีเอฟมาตั้งแต่ปี 2552 เริ่มจากฟาร์มสุกรของบริษัทที่ดำเนินการตามมาตรฐานนี้อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จนถึงปัจจุบันฟาร์มของบริษัททั้ง 98 แห่งทั่วประเทศ ใช้มาตรฐานฯ เดียวกันทั้งหมดแล้ว ขณะเดียวกัน ยังต่อยอดสู่โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย หรือคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ที่ร่วมกันพัฒนาสู่กรีนฟาร์ม ฟาร์มสุกรรักษ์โลกอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นใจต่อสังคมและชุมชน ว่าการดำเนินงานทั้งหมดต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย ทั้งของผู้ปฏิบัติงานและชุมชน
มาตรฐานฯ นี้มุ่งพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีกระบวนการเลี้ยงสุกรที่ทันสมัย เพื่อผลิตสุกรที่มีคุณภาพภายใต้การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง ด้วยการนำเทคโนโลยีที่หลากหลายมาสนับสนุนการเลี้ยงได้เต็มประสิทธิภาพ ด้วย 5 ปัจจัย คือ การเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด ที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำ (Evaporative Cooling System) สามารถควบคุมอุณหภูมิ สภาพอากาศ ความชื้น ให้เหมาะสมกับสุกรแต่ละช่วงวัย ทำให้สัตว์อยู่สบายและไม่เครียด การใช้ระบบไบโอแก๊ส (Biogas) ได้ก๊าซชีวภาพนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์มช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้ถึง 50-80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมด และยังช่วยป้องกันกลิ่นออกจากระบบทำให้ไม่มีแมลงวันที่จะไปรบกวนชุมชน นำระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือน มาใช้ตัดกลิ่นที่อาจหลงเหลือ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพส่งให้ชุมชนโดยรอบ นำไปใช้เพื่อการเกษตร ช่วยบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งมานานกว่า 21 ปี และการปรับฟาร์มให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ด้วยแนวคิดการยกรีสอร์ทมาไว้ที่ฟาร์ม จนได้ชื่อว่าเป็น “ฟาร์มหมูอยู่สบาย สไตล์รีสอร์ต”
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังเดินหน้าสู่การเป็นฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและระบบอัตโนมัติ เช่น Internet of Things (IoT) มาช่วยควบคุมการทำงานทางไกล การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การใช้กล้องวงจรปิด และการนำระบบ sound talk มาตรวจจับฟังเสียงไอของสุกร เพื่อติดตามสุขภาพของสัตว์ เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและส่งเสริมการผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพปลอดภัย และช่วยให้การจัดการสภาพแวดล้อมในฟาร์มเหมาะกับความเป็นอยู่ของสัตว์ ทำให้สัตว์อยู่สุขสบาย ได้กินอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ สนับสนุนการเติบโตของสัตว์ สอดคล้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) โดยมีการแสดงผลและวิเคราะห์ข้อมูลในฟาร์ม ด้วยระบบประมวลผลแบบทันที (real time processing) ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถดูแลสัตว์ และบริหารงานผ่านมือถือได้ทุกที่ทุกเวลา รวมทั้งมีการแจ้งเตือนสถานะผิดปกติต่างๆ ส่งผลให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ระบบฟาร์มอัจฉริยะยังมีส่วนช่วยให้การใช้พลังงานและน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการสูญเสียอาหารสัตว์ ประหยัดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญยังช่วยสนับสนุนระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity System) ปกป้องฟาร์มให้ปลอดภัยจากโรคระบาดสัตว์และคน จากการลดความจำเป็นของคนเข้าไปในโรงเรือน จึงลดความเสี่ยงการติดต่อโรคจากคนสู่สัตว์ นำไปสู่การลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
ฟาร์มเลี้ยงสุกรภายใต้มาตรฐานกรีนฟาร์ม ทำให้ทั้งคนอยู่สบาย มีการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่อชุมชน เพื่อให้ฟาร์มและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกันก็พัฒนาระบบการเลี้ยงที่ทันสมัย ภายใต้การดูแลอย่างใส่ใจใกล้ชิด เพื่อให้สุกรอยู่สบาย มีความสุข และสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรค สนับสนุนความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง