xs
xsm
sm
md
lg

สัตวแพทย์ย้ำไก่ไทยปลอดภัย ป้องกันไข้หวัดนกด้วยมาตรฐานระดับโลก “คอมพาร์ตเมนต์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ย้ำ เนื้อไก่ ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของไทย ปลอดภัยจากไข้หวัดนก ด้วยระบบ “คอมพาร์ตเมนต์” (Compartment) มาตรฐานโลกที่สามารถป้องกันโรคในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมแนะนำเกษตรกรเฝ้าระวังและคุมเข้มความปลอดภัยในฟาร์มสัตว์ปีกอย่างเคร่งครัด ชี้ผู้บริโภคต้องเลือกซื้อจากผู้ผลิตและแหล่งจำหน่ายมาตรฐาน เน้นปรุงสุกก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย

สพ.ญ.ดร.นิอร บุญประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ หน่วยงานสัตวแพทย์บริการด้านสัตว์ปีก ซีพีเอฟ กล่าวว่า ช่วงนี้ในหลายภูมิภาคของโลกกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก รวมถึงกัมพูชาประเทศเพื่อนบ้านของไทย อาจทำให้เกิดความกังวลถึงการแพร่กระจายของโรคนี้ สำหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของไทย มีระบบป้องกันไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกที่เข้มแข็ง ด้วยการนำระบบ "คอมพาร์ตเมนต์" (Compartment) การเลี้ยงสัตว์ปีกระบบปิดมาตรฐานสากลตามหลักการขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health - WOAH) มาใช้ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน จึงทำให้ไทยปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก 100% มานานกว่า 16 ปี


ซีพีเอฟ ใช้ระบบคอมพาร์ตเมนต์ ตามมาตรฐานของ WOAH เพื่อป้องกันโรคเชิงรุกขั้นสูงสุด ด้วยหลักการประเมินความเสี่ยง เพื่อกำหนดมาตรการปฏิบัติที่ตรงจุดของความเสี่ยงการเกิดโรค โดยเชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ โรงงานอาหารสัตว์ สู่ฟาร์มและโรงงานแปรรูป นอกจากนี้บริษัทมีการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิดที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี “ไก่ได้อยู่ดีมีความสุข” ช่วยเพิ่มความปลอดภัยทางอาหารตอบโจทย์สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)

“องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ระบุว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกไม่ได้ติดต่อสู่มนุษย์ได้ง่าย และความเสี่ยงจากเชื้อไวรัสฯ ต่อประชากรอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขของไทย ได้แนะนำประชาชนและผู้ประกอบการว่าไม่ควรตระหนกและไม่ควรประมาท ต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจในระบบการป้องกันโรคระบาดของไทยมีความแข็งแกร่งตามมาตรฐานสากล” สพ.ญ.ดร.นิอร กล่าวย้ำ


นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังส่งเสริมเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ (Contract Farming) ยกระดับการการป้องกันโรคในฟาร์มด้วยระบบ "คอมพาร์ตเมนต์" ควบคู่กับมาตรการติดตามสุขภาพฝูงสัตว์ปีกและเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด เน้นจัดการกับปัจจัยเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับเกษตรกรไทยควรมีมาตรการเฝ้าระวังและดูแลฝูงสัตว์ปีกที่เข้มข้นยิ่งขึ้น (Disease Surveillance System) โดยใช้มาตรการป้องกันโรคตั้งแต่ต้นทาง มีระบบการเลี้ยง การจัดการที่ถูกต้อง ด้วยระบบการป้องกันโรคที่ดี ตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์และสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด


กรณีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงพบสัตว์ปีกตายกะทันหัน หรือมีอาการผิดปกติ ต้องแจ้งสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มและปศุสัตว์ในพื้นที่โดยเร็ว หากพบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกผิดกฎหมาย โดยเฉพาะพื้นที่เขตชายเดน หรือพบสัตว์ปีกตามธรรมชาติแสดงอาการป่วยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตรวจวินิจฉัยทันที


สพ.ญ.ดร.นิอร แนะนำว่า สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ไม่ทราบประวัติ รวมถึงมูลและสารคัดหลั่ง หรือสัตว์ปีกที่มีอาการหรือสงสัยว่าป่วย หากเกิดการสัมผัสให้ใช้สบู่ล้างมือให้สะอาดทันที ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรค ควรสังเกตสุขภาพตนเอง หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

“การรับประทานเนื้อไก่ เนื้อเป็ด และสัตว์ปีก ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่มีระบบการผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน และแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ รวมถึงสังเกตสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" และซื้อผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลากแจ้งข้อมูลสำคัญที่ชัดเจน เช่น วันผลิต วันหมดอายุ และที่สำคัญที่สุดก่อนการรับประทานต้องปรุงสุกที่อุณหภูมิ 74 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาที จึงสามารถฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกได้” สพ.ญ.ดร.นิอร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น