สสส. สานพลัง ภาคีสร้างเสริมสุขภาพ จ.นครปฐม ลุยขยายผลพื้นที่สุขภาวะ ชู ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสาย 5 พัฒนานวัตกรรมเสริมกิจกรรมทางกาย-กองทุนเพื่อผู้สูงอายุยั่งยืน ปลื้ม “สามพรานโมเดล” สร้างระบบห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ครบวงจร ต้นแบบธุรกิจเกื้อกูลสังคม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. สานพลัง สถาบันอาศรมศิลป์ การเคหะแห่งชาติ มูลนิธิสังคมสุขใจ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมบูรณาการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานส่งเสริมสุขภาวะระดับพื้นที่” อ.พุทธมณฑล และ อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยมีคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 และ 5 สสส. และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมกว่า 100 คน เรียนรู้การพัฒนานวัตกรรมและกลไกพื้นที่สุขภาวะเพื่อส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย มุ่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อมและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตามบริบทของพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ ทั้งรูปแบบชุมชนเมือง 6 แห่ง และชนบท 6 แห่ง พร้อมจัดการความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารในชุมชน ลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
“การกินมีส่วนสำคัญในการสร้างสุขภาพดี สสส. บูรณาการระบบห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ครบวงจร มียุทธศาสตร์หลัก 3 ข้อ 1. ขับเคลื่อนการบูรณาการภายใต้แนวคิด “ระบบอาหารที่ยั่งยืน” สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ 2. สาน เสริมพลังภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ร่วมกันต่อยอดและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย 3. ยกระดับต้นแบบและขยายผลงานอาหารเพื่อสุขภาวะในระดับพื้นที่ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนเกิดความรอบรู้และเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหาร พัฒนาและใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้โมเดลธุรกิจที่เกื้อกูลสังคม นำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างสมดุลภายใต้ระบบอาหารที่ยั่งยืน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นายประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ ประธานสาขาวิชาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า ชุมชนบ้านเอื้ออาทรพุทธมณฑลสาย 5 จ.นครปฐม เป็นต้นแบบพื้นที่สุขภาวะรูปแบบชุมชนเมือง ปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางให้ทุกกลุ่มวัยได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเน้นกลุ่มผู้สูงอายุที่มีถึง 138 คน จากสมาชิกกว่า 2,000 คน มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุในชุมชน จัดกิจกรรม “รักเฒ่ากัน” ร้องเพลงเต้นรำ ส่งเสริมอาชีพ รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางร่วมกับสาธารณสุขท้องถิ่น และจิตอาสาในชุมชน วางแผนดูแลผู้ป่วยติดเตียง ธนาคารอุปกรณ์ลดการเกิดอุบัติเหตุ และร่วมกับคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนานวัตกรรมเครื่องยกตัวผู้ป่วย และระบบ Tele-Health ดูแลผู้ป่วยทางไกล ช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายอรุษ นวราช เลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า สวนสามพราน เป็นองค์กรต้นแบบในการขับเคลื่อนธุรกิจเกื้อกูลสังคมจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนฐานการค้าที่เป็นธรรม และนำ BCG Model มาประยุกต์ใช้ให้เกิดความยั่งยืน โดยพัฒนา “สามพรานโมเดล” ให้เป็นพื้นที่ศูนย์เรียนรู้มีชีวิต สอดแทรกการใช้ระบบห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ที่ครบวงจร ที่เริ่มจากการเตรียมการปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป ซื้อ/ขาย การจัดการขยะ มีการออกแบบให้สามารถเรียนรู้ใน 6 ด้าน 1. ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม 2. อาหารและการเกษตร 3. ดูแลสุขภาพองค์รวม 4. พลังงานทดแทนชีวเคมี 5. ท่องเที่ยวและเศรฐกิจสร้างสรรค์ 6. เศรษฐกิจหมุนเวียน ฟื้นฟูระบบอาหารให้สมดุลระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค เชื่อมช่องทางการตลาด รวมทั้งพัฒนาให้กลุ่มเกษตรกรเครือข่าย 193 คน ให้ได้การรับรองผลผลิตแบบมีส่วนร่วมตามมาตรฐาน PGS และเตรียมยกระดับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลต่อไป