xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ค้างเติ่ง! กรมรางลุ้นรัฐบาลใหม่สานต่อ เดินหน้าวางเกณฑ์ออกใบอนุญาต "ผู้เดินรถ-คนขับรถไฟ-รถไฟฟ้า"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ค้างเติ่ง “กรมราง” รอรัฐบาลใหม่สานต่อ พร้อมเดินหน้าวางเกณฑ์จัดทำใบอนุญาตระบบรางให้ผู้ประกอบการเดินรถและคนขับ 2,000 คนผ่านระบบดิจิทัล ใบอนุญาตคนขับอายุ 5 ปี ส่วนตัวรถให้ 8 ปี เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการใช้ระบบขนส่งทางราง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาโครงการศึกษาออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ว่า หลังจากร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 1 โดยสมาชิกเห็นด้วย 252 เสียง งดออกเสียง 1 และไม่เห็นด้วย 1 เสียง จากนั้นได้ผ่านขั้นตอนแปรญัตติ โดยกรรมาธิการวิสามัญ แก้ไขปรับปรุง 165 มาตราเรียบร้อย มีการเสนอกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 2 แต่เนื่องจากวันที่ 28 ก.พ. 2566 กำหนดปิดการประชุมสภาแล้ว ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ถือว่าไม่สามารถพิจารณาได้เรียบร้อยในสภาชุดนี้

หากเป็นรัฐธรรมนูญเก่าจะถือว่าร่างพ.ร.บ.นั้นต้องตกไป แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้ในปัจจุบัน มาตรา 153 ระบุว่า สามารถส่งร่าง พ.ร.บ.ที่รอการพิจารณาค้างไว้ เสนอกลับเข้าไปเพื่อดำเนินการต่อในวาระที่ 2 โดยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร้องขอไปที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายใน 60 วันนับจากวันที่มี ครม.ใหม่ แต่หากไม่ทันภายใน 60 วันจะต้องนำร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ กลับไปเริ่มต้นขั้นตอนเสนอ ครม.พิจารณา โดยคาดว่าหลังจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566 กรมรางฯ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ ต่อ ครม.ต่อไป


ดังนั้น ในระหว่างรอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางจากสภาฯ ชุดใหม่ กรมรางได้ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายลำดับรอง ประกาศ ระเบียบต่างๆ คู่ขนาน โดยการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัลเพื่อทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้นและรองรับระบบรางที่มีเพิ่มขึ้นในอนาคต ให้การบริการมีความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย โดยกรมรางได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำการศึกษาใช้เวลา 7 เดือน วงเงินงบประมาณ 15 ล้านบาท โดยจะแล้วเสร็จเดือน ก.ย. 2566 โดยจะมีการดำเนินการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ออกแบบพัฒนาระบบ จัดหาครุภัณฑ์และซอฟต์แวร์ จัดทำ ปรับปรุงร่างกฎหมายลำดับรอง อบรม ประชาสัมพันธ์ และการบำรุงรักษาและรับประกัน

สำหรับผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางที่ต้องมีใบอนุญาต มี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ใบอนุญาตประกอบกิจการคือผู้ให้บริการเดินรถ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นต้น กำหนดอายุใบอนุญาตไม่เกิน 30 ปี

2. ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ต้องได้รับใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ จะเป็นกลุ่มพนักงานขับรถ พนักงานควบคุมการเดินรถ (OCC) ซึ่งใบอนุญาตจะมีประเภท รถไฟฟ้า รถไฟดีเซล รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถรางไฟฟ้า และอื่นๆ ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี และต่อครั้งละ 5 ปี โดยต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ทดสอบการฟัง การมองเห็น ทดสอบด้านจิตวิทยา ความรู้ความสามารถทักษะ และตรวจสารเสพติด เป็นต้น ซึ่งกรมรางจะกำหนดสถาบันทางการแพทย์ที่จะรับรองด้านสุขภาพร่างกาย

3.ืการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า รถราง รถระบบแขวน ฯลฯ โดยตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานตัวรถ วงรอบการซ่อมบำรุงต้องดำเนินการครบถ้วน จึงจะจดทะเบียนและออกหมายเลขทะเบียนรถพร้อมคู่มือ และต้องเข้ารับการตรวจสอบทุก 8 ปี ซึ่งจะทำให้รถมีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน และแก้ปัญหารถเสียบ่อย เสียกะทันหัน ส่งผลกระทบต่อการให้บริการที่ล่าช้าที่ลดน้อยลงไปด้วย


นายพิเชฐกล่าวว่า การออกใบอนุญาตครั้งแรกจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ หลังพ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ มีผลบังคับใช้ ภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องตรวจคุณลักษณะ โดยเห็นว่าผู้ให้บริการ คนขับรถที่ทำหน้าที่อยู่ขณะนี้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งได้ประสานกับผู้ให้บริการระบบรางทุกรายจัดส่งข้อมูลพื้นฐานของคนขับ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ OCC และข้อมูลตัวรถ เพื่อทำเป็นดาตาเบส และเมื่อครบ 5 ปีจะมีการตรวจสอบคุณภาพตามประกาศ จึงจะต่อใบอนุญาตให้ในรอบต่อไป ซึ่งกรมรางได้จัดทำกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตเป็นเวลา 10 ปี เพื่อลดภาระให้ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่

ปัจจุบันมีคนขับรถไฟ รถไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมเดินรถรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 คน (เป็นคนขับของการรถไฟฯ ประมาณ 1,200 คน) โดยปัจจุบันรถไฟประสบปัญหาการขาดแคลนคนขับรถประมาณ 700 คน ส่วนรถทั้งตู้รถไฟ ตู้รถไฟฟ้า แคร่ขนส่งสินค้า มีประมาณ 10,200 คัน มีผู้โดยสารประมาณ 1.2 ล้านคนต่อวัน ขนส่งสินค้าประมาณ 1 ล้านตัน ต่อเดือน ซึ่งหากในอนาคตมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2 และทางคู่สายใหม่แล้วเสร็จ รถไฟฟ้าเสร็จตามแผนแม่บทครบ 10 สาย ปริมาณผู้โดยสารและสินค้าจะเพิ่มขึ้น และจะมีความต้องการคนขับรถและเจ้าหน้าที่อีกไม่น้อยกว่า 30% จากปัจจุบัน

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาภาครัฐไม่ได้เข้าไปกำกับดูแลมาตรฐานของผู้ให้บริการระบบราง ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล ถือว่าทำได้ดีระดับหนึ่งแต่ก็มีปัญหาบ้าง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถควบคุมจัดการได้ เช่น คนขับเมาระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ก็ไล่ออก หรือมีปัญหาสายตา สุขภาพจิต เหล่านี้ เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัย ขณะที่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมากรมรางได้ขอข้อมูลและเข้าไปกำกับดูแลภายในมากขึ้น ก็ทำให้ทราบว่ามีอุบัติเหตุกี่ครั้ง ที่ไหน อย่าง ระบบเบรก ระบบประตู อาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า เสียตรงไหน กี่ครั้ง แต่อาจจะยังไม่รู้ถึงสาเหตุเพราะข้อมูลเชิงลึก แต่อนาคตจะต้องรู้ด้วย เพราะมีดาตาเบส เรื่องตัวรถ วงรอบการซ่อมบำรุง ซึ่งจังหวะเวลานี้เหมาะสม เพราะรถไฟฟ้าเริ่มเข้าสู่ช่วงกลางของการให้บริการ ตัวรถมีอายุ 15-20 ปี ต้องเน้นเรื่องการซ่อมบำรุงมากขึ้น"


สำหรับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง และใบอนุญาตอื่นๆ ตามที่กฎหมายนี้กำหนด จะส่งผลดี ดังนี้

1. เกิดความปลอดภัยในการใช้บริการระบบรางมากยิ่งขึ้น ผ่านข้อกำหนดและมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดไว้
2. ผู้ใช้บริการะบบขนส่งทางรางเกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจได้ว่าผู้ประกอบการมีศักยภาพในการดำเนินการให้บริการทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรม บุคลากรของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางมีคุณลักษณะและความรู้ที่เหมาะสมต่อการเป็นผู้ประจำหน้าที่และรถขนส่งทางรางมีสภาพที่พร้อมที่จะให้บริการขนส่งทางราง
3. ภาครัฐสามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมสำหรับการใช้บริการระบบขนส่งทางราง
4. ผู้โดยสารจะได้รับการคุ้มครองจากผู้ให้บริการ เช่น มาตรการชดเชยในกรณีที่มีอุบัติเหตุหรือมีเหตุให้ล่าช้า
5. ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในระบบราง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคา การบริการ เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ


กำลังโหลดความคิดเห็น