xs
xsm
sm
md
lg

กรมราง MOU สทร. และ สวทช. ร่วมพัฒนา วิจัย นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ระบบรางไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมราง เซ็นเอ็มโอยู สทร. และ สวทช. ร่วมขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนา นวัตกรรม ด้านมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ในระบบราง เพื่อยกระดับและเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขัน อุตฯเกี่ยวเนื่องระบบรางในประเทศไทย

วันที่ 14 ก.พ. 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วยศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม ด้านมาตรฐานและการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบราง เพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย โดยมีดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน


นายพิเชฐ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือผลักดันพัฒนาส่งเสริมมาตรฐานและการทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์ในระบบราง เพื่อการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางราง รวมทั้ง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ และเตรียมพร้อมสู่การขยายโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในอนาคต รวมถึงเพื่อเป็นการการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางราง ของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนให้เป็นไปตามกฎและระเบียบที่กฎหมายกำหนด ให้กับภาคการผลิตให้มีมาตรฐานการทดสอบเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถลดต้นทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางให้มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัย มั่นคงให้บริการกับประชาชน


โดยขอบเขตบันทึกข้อตกลงนี้ประกอบด้วย

1. การร่วมกันขับเคลื่อนด้านมาตรฐานและการทดสอบ รับรองสำหรับผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

2. ร่วมกันวิจัยและพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางของไทยให้ได้มาตรฐานการทดสอบในระดับสากล และสามารถรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง

3.ส่งเสริมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบในประเทศ เพื่อให้บริการทดสอบ การตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ในระบบราง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระบบรางของไทย และพัฒนาสถานะประเทศไทยจากประเทศผู้ซื้อ มาเป็นประเทศผู้ผลิตเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ตลอดจนช่วยขยายขีดความสามารถของไทยให้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟได้ในอนาคต โดยการพัฒนาด้านการทดสอบ รับรอง มาตรฐาน ระบบขนส่งทางราง เพื่อลดภาระการนำเข้าสินค้า และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เพื่อสู่การขยายโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในอนาคต

4. ร่วมกันพัฒนาบุคลากร ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยี การวิจัย และการพัฒนาด้านมาตรฐาน การบริการทดสอบ การตรวจสอบและการรับรองผลิตภัณฑ์ด้านระบบราง เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการพัฒนาวงการทางการวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ด้านระบบราง


"บันทึกข้อตกลงนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขนส่งทางรางให้มีความปลอดภัย ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงลดปัญหามลภาวะทางเสียงและอากาศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งนอกจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว หากชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ระบบราง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบตัวรถขนส่งทางราง ด้านระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมได้มีการศึกษาวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม จนผลิตขึ้นได้โดยคนไทย ใช้วัสดุภายในประเทศ ผ่านการทดสอบให้ได้ตามค่ามาตรฐานสากลที่กำหนด ก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม"นายพิเชฐกล่าว


ทั้งนี้ กรมรางยังได้มีการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทดสอบ EMC และระบบอาณัติสัญญาณ ณ อาคารแชมเบอร์ 10 เมตร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งห้องดังกล่าวเป็นห้องที่ใช้วิจัยและทดสอบระบบรางโดยใช้ไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้า (electrical train) ก่อนจะดำเนินการติดตั้งระบบต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ การติดตั้งระบบสื่อสาร การซ่อมแซมความผิดปกติของระบบต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของหน่วยงานรับรองระบบ (Certification Body: CB) สากลด้วย โดยหน่วยงานต่างๆ จะต้องทำการทดสอบประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ของรถไฟฟ้าทั้งก่อนดำเนินการ ระหว่างการดำเนินการ และภายหลังการปรับปรุงระบบ เพื่อความปลอดภัยในการนำระบบต่างๆ มาใช้งานต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น