ผู้จัดการรายวัน 360 - “ไทยเบฟ” เดินหน้าตลาดเบียร์กลุ่มแมสพรีเมียม ทุ่ม 1 พันล้านบาทเอาจริง ช้าง โคลด์ บรูว์ หวังดันสัดส่วนรายได้ 15% จากพอร์ตเบียร์รวมของไทยเบฟทั้งหมด ชี้ตลาดรวมเบียร์ 2 แสนล้านบาทปีนี้เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
นายเลสเตอร์ ตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือไทยเบฟ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดเบียร์ในไทยมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ปี 2566 นี้ประเมินว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อตลาดเบียร์รวมตกลงมากกว่า 10-15% ขณะที่ในช่วงสองเดือนแรกปีนี้ตลาดรวมโตขึ้นมาไม่น้อยกว่า 7% แล้ว
โดยปัจจัยบวกที่ตลาดรวมปีนี้จะฟื้นตัวดีขึ้นคือ การเปิดประเทศที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกันมากขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจที่คนจะออกมาใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลต่อการใช้จ่ายที่มีการหมุนเวียนมากขึ้น ร้านค้ามีการเปิดบริการมากขึ้นจากที่ไม่มีการเปิดบริการไปในช่วงโควิดระบาด
อย่างไรก็ตาม เทรนด์การบริโภคเบียร์หลังจากโควิดมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ซึ่งแนวโน้มจะเป็นการดื่มเบียร์แบบโลว์เอเนอร์ยี (Low Energy) คือการดื่มเบียร์แบบชิลๆ ในทุกบรรยากาศ แตกต่างจากเดิมที่จะดื่มเบียร์กันแบบไฮเอเนอร์ยี (High Energy) คือดื่มเบียร์ในงานที่เป็นกลุ่มคนมากมาย งานเลี้ยงเป็นกลุ่มใหญ่ๆ งานสังสรรค์ งานเฮฮาปาร์ตี้หมู่คณะแบบหนักๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ตลาดรวมเบียร์มีการแบ่งสัดส่วนกลุ่มเบียร์ออกได้ดังนี้ กลุ่มพรีเมียมสัดส่วน 2%, กลุุ่มแมสพรีเมียม สัดส่วน 15%, กลุ่มอีโคโนมี สัดส่วน 12% และที่เหลือเป็นกลุ่มแมส ใหญ่ที่สุด ส่วนกลุ่มเบียร์ที่มีการฟื้นตัวเร็วและมีศักยภาพมากก็คือ กลุ่มแมสพรีเมียมที่มีมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท เติบโตมากกว่า 10% ในช่วงที่ผ่านมา
นายเลสเตอร์กล่าวต่อว่า สำหรับผลิตภัณฑ์ ช้าง โคลด์ บรูว์ (Chang Cold Brew) ที่เปิดตัวมาในช่วงก่อนโควิด-19 เป็นเบียร์ในกลุ่มแมสพรีเมียมที่เป็นตัวที่กล่าวได้ว่าขับเคลื่อนตลาดรวมได้อย่างแท้จริง มีการเติบโตอันดับ 1 ในบรรดาเบียร์ที่มีการเปิดตัวใหม่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา
ในปีนี้ (2566) บริษัทฯ ได้วางแผนการตลาดเชิงรุกของ ช้าง โคลด์ บรูว์ ใหม่ เพื่อตอบรับเทรนด์ตลาด และรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดรวม โดยตั้งเป้าหมายให้ช้าง โคลด์ บรูว์นี้มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 15% ในพอร์ตเบียร์รวมของไทยเบฟทั้งหมดภายในปี 2566 นี้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนน้อยมากเพียงแค่หลักเดียวเท่านั้นเอง
โดยตั้งงบการตลาดรวมทั้งหมด 1,000 ล้านบาทในช่วงรอบปีบัญชี ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่มากครั้งหนึ่งของไทยเบฟ เพื่อผลักดันช้าง โคลด์ บรูว์ ให้เป็นที่จดจำและประทับใจและเร่งสร้างการเติบโตในทุกช่องทาง โดยชูเรื่อง ใช้มอลต์ 100% ผ่านกระบวนการผลิตกรองแบบโคลด์บรูว์ การใช้นวัตกรรมในการผลิต ทั้งแพกเกจจิ้ง การตลาด และรูปแบบการทำตลาดใหม่ เช่นที่ผ่านมาเปิดตัว ถังเบียร์ขนาด 5 ลิตร หรือแพกเกจจิ้งกล่องกระดาษแบบยาวขนาดบรรจุ 25 กระป๋อง ตลาดให้การตอบรับดี
ขณะที่แผนการขยายช่องทางจำหน่าย ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ช้าง โคลด์ บรูว์ จะเน้นการขายในบางพื้่นที่และบางช่องทาง เช่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ เป็นต้น และเน้นแค่ช่องทางโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถวางจำหน่ายได้ในวงกว้างต้องการสร้างภาพลักษณ์ ซึ่งขณะนี้ตลาดเริ่มรู้จักและให้การตอบรับดีแล้ว
จากนี้ไปจะหันมามุ่งขยายช่องทางเทรดิชันนัลเทรดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในตลาดรวมเบียร์ สัดส่วนช่องทางการขายจะมาจากเทรดิชันนัลเทรดกับร้านดื่ม มีรวมกันมากกว่า 80% ส่วนช่องทางโมเดิร์นเทรดในตลาดรวมมีเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งจะทำให้จากนี้ไปผลิตภัณฑ์จะหาซื้อได้ง่ายเข้าถึงตลาดในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งแผนการจัดกิจกรรมการตลาดทางดนตรีและคอนเสิร์ตทั้งในประเทศและระดับสากลตลอดทั้งปี