กบง.เคาะกลับไปใช้ค่าการตลาดทั้งน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซลที่ 2 บาท/ลิตรหลังสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ส่งผลให้ราคาขายปลีกในส่วนของกลุ่มเบนซินจะลดลงได้ 0.90-1.20 บาท/ลิตรโดยจะมีผล 15 ก.พ.
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 14 ก.พ.ว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ออกไปอีกจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ประกอบกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนบัญชีน้ำมันมีรายรับประมาณ 516 ล้านบาทต่อวัน (หรือ 14,455 ล้านบาทต่อเดือน) ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีฐานะติดลบน้อยลง ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ที่เหมาะสม
โดยปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลับสู่สภาวะปกติตามปี 2563 ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร โดยเฉพาะดีเซลที่เดิมขอให้ผู้ค้าคุมไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายรับในส่วนของน้ำมันดีเซลลดลงเป็นประมาณ 37.23 ล้านบาทต่อวัน (หรือประมาณ 1,117 ล้านบาทต่อเดือน) ทั้งนี้จะทำให้ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินปรับลดลงประมาณ 0.90 -1.20 บาทต่อลิตร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กบง.ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นไปตามมติของ กบง.
รายงานข่าวระบุว่า ค่าการตลาดดีเซลที่ผ่านมาได้ถูกรัฐขอความร่วมมือผู้ค้าคุมไม่ให้เกิน 1.40 บาต่อลิตร ทำให้ผู้ค้าไปเพิ่ม ค่าการตลาดกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เกินกว่า 2.00 บาทต่อลิตร เพื่อมาถัวเฉลี่ยแทน ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้กลุ่มเบนซิน