ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก สานต่อความร่วมมือกับมิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ และไปรษณีย์ไทย ในโครงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ในการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ เฟสที่ 2 เพื่อทดสอบการขนส่งสินค้า และพัสดุในเส้นทางที่ลาดชันในจังหวัดภูเก็ต และชลบุรี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่สังคมคาร์บอนเป็นกลาง
นายทรงพล เทพนำโสมนัสส์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจเอนเนอร์ยีโซลูชัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR ร่วมมือกับ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในโครงการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ในการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ เฟสที่ 2 เพื่อการศึกษา และทดสอบการขนส่งสินค้า และพัสดุในเส้นทางที่ลาดชันในจังหวัดภูเก็ต และชลบุรี เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก้าวสู่สังคมคาร์บอนเป็นกลาง
ทั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายของบริษัทภายในปี 2030 คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจและเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน รวมทั้งได้วางแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีวี สเตชั่น พลัซ (EV Station PluZ) ให้มากขึ้น รวมเป็น 800 แห่ง ภายในปี 2566 ทั้งภายในและภายนอก พีทีที สเตชั่น พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการขยาย EV Station PluZ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมาย 7,000 หัวชาร์จในปี 2573 รองรับความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
นายเออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การนำ มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ มาทดลองใช้ในการนำจ่ายไปรษณียภัณฑ์จะเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในชีวิตจริง ทั้งเพื่อธุรกิจ และเพื่อการเดินทางไป-กลับที่ทำงานด้วยเส้นทางประจำทุกๆ วัน
ในการดำเนินโครงการศึกษาระยะที่ 2 นี้ ไปรษณีย์ไทยจะทดลองใช้รถยนต์ไฟฟ้ามิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ นำจ่ายไปรษณียภัณฑ์บนเส้นทางที่ลาดชันในจังหวัดภูเก็ตและชลบุรี รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มีศักยภาพการบรรทุกสินค้าได้สูงสุด 350 กิโลกรัม พร้อมผู้โดยสาร 2 คน
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 2566 แผนงานด้านการนำจ่ายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ไปรษณีย์ไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเติบโตของภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการขนส่ง และไปรษณีย์ไทยต้องมีการนำจ่ายทุกเส้นทางในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดมลพิษ ตลอดจนช่วยควบคุมต้นทุนและรายจ่ายน้ำมัน โดยไปรษณีย์ไทย โดยในระยะเริ่มต้นปี 2566 นี้จะทดลองนำจ่ายในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองสมาร์ทซิตี้และมีการเติบโตในด้านธุรกิจขนส่ง ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
นายอาคิระ โกโตะ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สำนักนโยบายด้านบริการไปรษณีย์ กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสารของญี่ปุ่น กล่าวว่า
ในประเทศญี่ปุ่น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้จัดส่งรถยนต์ไฟฟ้ามิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ รวมทั้งสิ้น 10,000 คัน ให้บริษัทขนส่งต่างๆ รวมถึงบริษัทค้าปลีกและหน่วยงานรัฐหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ได้รวมถึงการจัดส่งมิตซูบิชิ มีฟ 1,800 คัน ไปยังการไปรษณีย์ของญี่ปุ่นเพื่อใช้ในกิจการไปรษณีย์
ภายใต้บันทึกข้อตกลงที่ลงนามในปีที่แล้ว มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จัดส่งรถยนต์ มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ จำนวน 2 คัน เพื่อการศึกษาและทำความเข้าใจถึงการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการพาณิชย์ รวมถึงการเก็บข้อมูลการใช้งานเครื่องชาร์จไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้งานในกลุ่มรถขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ไทย และความเป็นไปได้ที่จะขยายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ความรับผิดชอบต่อสังคมที่มุ่ง “สรรค์สร้าง เคียงข้างสังคมไทย” และหลักสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศไทย