xs
xsm
sm
md
lg

กางแผนเจรจา FTA ปี 66 เร่งนับหนึ่งไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ปิดดีลเอฟตา แคนาดา ตุรกี ศรีลังกาให้จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แต่ละปีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะกำหนดแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการเดินหน้าการเจรจา และส่งสัญญาณถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้ทราบถึงความคืบหน้าในการเจรจา FTA ในแต่ละฉบับ เพื่อให้มีข้อมูล และสามารถนำไปใช้ในการวางแผนทำธุรกิจ ทำการค้า หรือเตรียมรับมือได้เป็นการล่วงหน้า และในปี 2566 นี้ก็เช่นเดียวกัน “นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ได้ประกาศแผนการเจรจา FTA ออกมาแล้ว จะให้ความสำคัญต่อการทำ FTA กับประเทศไหนบ้าง เรามาติดตามกัน

แผนการเจรจา FTA ในปี 2566 นี้ นางอรมนระบุว่า ได้กำหนดเอาไว้ 3 ด้านหลัก คือ ด้านที่ 1 จะเดินหน้าเปิดเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยเร็ว ด้านที่ 2 เร่งสรุปผลการเจจา FTA ที่ค้างอยู่ 4 ฉบับ คือ เอฟตา แคนาดา ตุรกี และศรีลังกา ให้จบภายในปี 2567 และด้านที่ 3 เร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ เช่น กลุ่มคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศ

เร่งนับหนึ่ง FTA ไทย-อียูให้ได้

นางอรมนกล่าวว่า การเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู สืบเนื่องมาจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้นำคณะที่รับผิดชอบการเจรจา FTA ไทย-อียู เดินทางไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา และได้พบกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือเทียบเท่าในระดับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป เพื่อหารือในเรื่องนี้

โดยผลการหารือเรียกได้ว่าสามารถบันทึกเป็นวันประวัติศาสตร์ทางการค้าไทย-อียูได้เลย เพราะทั้งสองฝ่ายมีข้อสรุปและเป้าหมายในการแสดงเจตจำนงให้แต่ละฝ่ายดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การจัดเจรจาทำ FTA ระหว่างสองฝ่ายต่อไปโดยเร็ว

ใช้เวลาปิดดีลเร็วที่สุด สั้นที่สุด

ความคืบหน้าการเร่งเปิดเจรจา FTA ไทย-อียูในครั้งนี้ถือว่าใช้เวลาน้อยที่สุดและสั้นที่สุดในการเจรจาว่าความเรื่องการเปิดเจรจา FTA เลยก็ว่าได้ เพราะสั้นตั้งแต่ระยะเวลาเดินทางของนายจุรินทร์ ในฐานะหัวหน้าทีมการเจรจา และสั้นกระทั่งระยะเวลาพบปะพูดคุยกันระหว่างไทยกับอียูที่ใช้เวลาสั้นๆ เริ่มจากนายจุรินทร์บินไปบรัสเซลส์ คืนวันที่ 25 ม.ค. 2566 ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงมิวนิก เยอรมนี ใช้เวลาบินเกือบ 12 ชั่วโมง แล้วต่อเครื่องไปบรัสเซลส์อีก 1.25 ชั่วโมง ถึงบรัสเซลส์ก็กว่า 10 โมงเช้า แต่ที่ถึงเช้าเพราะบรัสเซลส์เวลาช้ากว่าไทย 6 ชั่วโมง จากนั้นนายจุรินทร์ได้เดินทางเข้าโรงแรม แล้วออกไปรับประทานอาหาร พอช่วงบ่าย เดินทางออกไปเยี่ยมชมรัฐสภาอียูเพื่อรับฟังขั้นตอนการทำงาน วิธีการออกกฎระเบียบ กฎหมายของอียู จนถึงเวลานัดประมาณ 17.00 น. จึงออกเดินทางไปพบปะหารือกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส แล้วจากนั้นอียูได้เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารค่ำ ใช้เวลาตั้งแต่พบกัน หารือกัน จนรับประทานอาหารเสร็จ ไม่ถึง 3 ชั่วโมง จากนั้น เช้าวันที่ 26 ม.ค. 2566 นายจุรินทร์ได้ขึ้นเครื่องบินกลับไทยทันที เป็นการเดินทางกลับพร้อมความสำเร็จที่จับต้องได้

รองนายกฯ อียูตื่นเต้นถึงกับโพสต์ทวิตเตอร์

ภายหลังการหารือกับนายจุรินทร์จบแล้ว นายวัลดิส โดมโบรฟสกิส ก็มีความตื่นเต้นไม่แพ้ไทย ถึงกับโพสต์ผ่านทวิตเตอร์ Valdis Dombrovskis ระบุว่า ยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพรับรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งผลการหารือเป็นไปด้วยดี โดยทั้งสองฝ่ายต้องการให้มีความตกลงที่ครอบคลุม คุณภาพสูง และมีข้อบทที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านความยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายจะกลับไปเริ่มกระบวนการภายในของแต่ละฝ่ายทันที มีเป้าหมายที่จะเปิดการเจรจา FTA ไทย-อียูโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้

ชงเรื่องขออนุมัติ ครม.เดินหน้าเจรจา

เมื่อทั้งสองฝ่าย ไทย-อียูได้ตกลงที่จะเดินหน้าการเจรจา FTA แล้ว วันที่ 3 ก.พ. 2566 นายจุรินทร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้ลงนามหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำกรอบการเจรจา FTA ไทย-อียู ให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาแล้ว และเมื่อที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจา จะขออนุมัติจาก ครม.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ประกาศเรื่องเปิดการเจรจาร่วมกับผู้แทนของสหภาพยุโรปต่อไป ส่วนทางฝั่งของอียูก็อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ

ทั้งนี้ คาดว่าภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเริ่มนับหนึ่งการเจรจา FTA ระหว่างกันได้ และไทยจะเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และเวียดนาม ที่ทำ FTA กับอียู และจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การค้าบริการ และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยสร้างเงิน สร้างอนาคตให้ประเทศไทยได้อีกมาก


ความสำคัญของ FTA ไทย-อียู

นางอรมนให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความสำคัญของการทำ FTA ไทย-อียู ว่า อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ปี 2565 ไทยค้ากับอียูมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2.87% คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.17% หรือประมาณ 843,378 ล้านบาท

ส่วนด้านอื่นๆ มีผลการศึกษาที่กรมฯ ได้ว่าจ้างให้สถาบันอนาคตศึกษาทำการศึกษาไว้ พบว่า ถ้ายกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันทั้งหมดจะช่วยเพิ่มจีดีพีของไทย 1.28% คิดเป็นมูลค่า 205,000 ล้านบาทต่อปี ช่วยให้การส่งออกไปอียูเพิ่ม 2.83% หรือ 216,000 ล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่ม 2.81% หรือ 209,000 ล้านบาทต่อปี และด้านสังคม จะทำให้คนจนลดลง 270,000 คน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%

“จากผลศึกษา การทำ FTA ไทย-อียู ไทยได้ประโยชน์มากมาย และยังเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไทยต้องการ นักลงทุนต่างชาติก็ต้องการ เพราะอยากย้ายฐานการผลิตมาไทย แล้วส่งออกไปอียู แต่ก็มีประเด็นท้าทาย ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร พันธุ์พืช แรงงาน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยมีการเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว และยังมีความก้าวหน้ามาก รวมทั้งเป็นผู้นำในหลายๆ เรื่อง เช่น BCG” นางอรมนกล่าว

อย่างไรก็ตาม นางอรมนยืนยันว่า หากเริ่มการเจรจา อะไรที่ผู้ประกอบการไทยอยากได้ อยากจะเข้าไปบุกในตลาดอียู ก็สามารถแจ้งมายังกรมฯ ได้ กรมฯ พร้อมที่จะไปเจรจาให้ และยังได้เปิดให้มีเวทีสำหรับใช้หารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ส่วนอะไรที่อยากให้ต่อรอง หรืออยากได้เวลาปรับตัว ก็ให้แจ้งมา จะไปต่อรองให้ เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งกังวล ยืนยันว่าในการเจรจาจะดูแลผลประโยชน์ของประเทศไม่ให้เสียเปรียบอยู่แล้ว

เร่งปิดดีล FTA คงค้าง 4 ฉบับ

สำหรับ FTA ที่ค้างการเจรจา นางอรมนกล่าวว่า จะให้ความสำคัญต่อการเร่งปิดดีล FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาทั้ง 4 ฉบับ คือ เอฟทีเอ แคนาดา ตุรกี และศรีลังกาให้ได้ ซึ่งในปี 2566 นี้ได้วางแผนจัดการประชุมร่วมกับคู่เจรจาทุก 2-3 เดือน เพื่อให้การเจรจาคืบหน้าและสรุปผลได้ตามกำหนด โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องจบให้ได้ภายในปี 2567

โดย FTA ไทย-เอฟตา ขณะนี้ได้ประชุมกันมาแล้ว 3 รอบ หลังจากที่ไทย-เอฟตา ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ได้ประกาศเปิดการเจรจา FTA ในเดือน มิ.ย. 2565 โดยมีความคืบหน้าทั้งการประชุมในระดับหัวหน้าคณะเจรจา และการประชุมกลุ่มย่อยที่มีการหารือกันใน 15 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากร มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การค้าบริการ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ และการระงับข้อพิพาท

สำหรับ FTA อาเซียน-แคนาดา คณะกรรมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา (ACAFTA) ได้มีการประชุมร่วมกันไปแล้ว กำหนดที่จะจัดประชุมให้ได้ปีละ 4 ครั้ง โดยได้มีการตั้งคณะทำงานเจรจากลุ่มย่อย 17 กลุ่ม เพื่อหารือในแต่ละเรื่อง ได้แก่ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า บริการโทรคมนาคม ความร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า การค้าบริการ บริการด้านการเงิน
กฎหมายและสถาบัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การเยียวยาทางการค้า และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย

ส่วน FTA ไทย-ตุรกี การประชุมที่ผ่านมามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่มาชะงักหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 แต่ปี 2566 จะเร่งหารือกับตุรกี เพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำ FTA ให้ได้

ขณะที่ FTA ไทย-ศรีลังกา ได้มีการประชุมรอบที่ 3 ไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา หลังจากที่ไม่ได้ประชุมกันมาเลยตั้งแต่ปี 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงโควิด-19 แต่หลังจากที่ได้ประชุมกันแล้ว ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะเดินหน้าการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 1-2 ปีนี้

ศึกษาทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ที่มีศักยภาพ

นางอรมนกล่าวว่า ในปี 2566 นี้กรมฯ มีแผนเร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC (ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance (ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู) และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศ เพื่อหาตลาดใหม่ที่จะช่วยขยายโอกาสการค้าไทยตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนผ่านที่ประชุม กรอ.พาณิชย์

ความสำคัญของกลุ่ม GCC มีมูลค่ากับไทย 39,618.52 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6.71% ของการค้าไทยกับโลก ส่วนกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกอยู่ที่ 6,239.99 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศอยู่ที่ 2,831.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเพิ่มได้ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการค้าของไทยกับคู่ FTA ได้เพิ่มขึ้น

สรุปปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับ 18 ประเทศ

สำหรับ FTA ในปัจจุบัน ไทยได้ทำ FTA รวม 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทย

ผลจากการมี FTA ทำให้การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ FTA ในปี 2565 มีมูลค่า 359,542.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 12,542,911.58 ล้านบาท เพิ่ม 5.1% โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ FTA มูลค่า 171,789 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5,951,350.69 ล้านบาท และนำเข้าจากประเทศคู่ FTA มูลค่า 187,753.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6,591,560.89 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่า FTA ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลก ผ่านการเปิดตลาด ลดเลิกอุปสรรคทางภาษีศุลกากร และที่มิใช่ภาษี การปรับปรุงกฎระเบียบที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้า และยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน ซึ่งหากไทยมี FTA กับคู่ค้ามากขึ้นเท่าใด ก็จะเกิดประโยชน์กับประเทศมากขึ้นเท่านั้น โดยปัจจุบัน ไทยสัดส่วนการค้ากับประเทศที่ทำ FTA แล้ว 63% ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 80% ภายในปี 2570 ซึ่งตอนนั้นจะทำให้การค้าของไทยขยายตัวได้มากขึ้น และทำรายได้เข้าประเทศมากขึ้น” นางอรมนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น