xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เคาะเพิ่มค่าก่อสร้างมอเตอร์เวย์”บางปะอิน” กว่า 4.9 พันล้านบาท ปลดล็อกปรับแบบ 12 ตอน ดันค่างานโยธารวมเป็น 6.4 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.ไฟเขียวเพิ่มวงเงินมอเตอร์เวย์”บางปะอิน-นครราชสีมา”4,970 ล้านบาท จ่ายค่าโยธา12 ตอนกรณีปรับแบบ“ศักดิ์สยาม”สั่งทล.เร่งงานรับเหมา คาดเปิดทดลองวิ่งจากปากช่อง-เลี่ยงเมืองโคราช ปลายปี 66 ส่วนอีก 4 ตอน รอกก.ตรวจสอบปมงบเพิ่ม 1,780 ล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ก.พ. 2566 มีมติอนุมัติค่าก่อสร้างเพิ่มเติม ในส่วนงานโยธาที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970.7107 ล้านบาท และขยายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณเพิ่มเติม โดย ให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดเดินหน้าก่อสร้างส่วนที่เหลืออย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำถึงคุณภาพ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และคาดว่าจะเปิดทดลองวิ่งช่วงปากช่อง ถึงปลายทางที่เลี่ยงเมืองนครราชสีมา ปลายปี 2566 นี้ และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบพร้อมเก็บเงินค่าผ่าทางในปี 2568

สำหรับงานโยธาที่ยังไม่ได้ดำเนินการ จำนวน 12 ตอน วงเงินรวม 4,970.7107 ล้านบาท ประกอบด้วย

- ตอน 1 กม. 0+000.000 - 7+332.494 วงเงินเพิ่ม 631.2045 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,815.576 ล้านบาท
- ตอน 2 กม. 0+000.000 – 5+470.673 วงเงินเพิ่ม 70.3000 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,938.840 ล้านบาท
- ตอน 4 กม. 9+008.350 - 15+000.000 วงเงินเพิ่ม 971.8108 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,926.299 ล้านบาท
- ตอน 5 กม. 15+000.000 - 27+500.000 วงเงินเพิ่ม 69.1874 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,965.269 ล้านบาท
- ตอน 18 กม. 72+328.075 – 74+300.000 วงเงินเพิ่ม 271.4985 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,576.645 ล้านบาท
- ตอน 19 กม. 74+300.000 – 77+000.000 วงเงินเพิ่ม 596.7523 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม1,627.333 ล้านบาท
- ตอน 20 กม. 77+000.000 - 82+500.000 วงเงินเพิ่ม 161.7828 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,760.610 ล้านบาท
- ตอน 21 กม. 82+500.000 - 86+000.000 วงเงินเพิ่ม 1,310.1243 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,850.470 ล้านบาท
- ตอน 23 กม. 102+000.000 - 110+900.000 วงเงินเพิ่ม 406.2323 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,640.854 ล้านบาท
- ตอน 24 กม. 110+900.000 - 119+000.000 วงเงินเพิ่ม 26.4170 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,240.462 ล้านบาท
- ตอน 34 กม. 140+040.000 – 141+810.000 วงเงินเพิ่ม 291.6938 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,979.200 ล้านบาท
- ตอน 39 กม. 175+100.000 - 188+800.000 วงเงินเพิ่ม 163.7071 ล้านบาท จากค่างานตามสัญญาเดิม 1,388.630 ล้านบาท


โดยมอเตอร์เวย์ (M6) สายบางปะอิน - นครราชสีมา วงเงินลงทุน 76,600 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 69,970 ล้านบาท ค่าเวนคืน 6,630 ล้านบาท) ทล.ได้ดำเนินงานโยธา มาตั้งแต่ปี 2559 แบ่งงานออกเป็น 40 ตอน วงเงินตามสัญญาจ้าง 59,410.248 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 จำนวน 10,559.752 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มวงเงินจำนวน 12 ตอน จำนวน 4,970.7107 ล้านบาท ทำให้วงเงินค่าก่อสร้าง รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นเป็น 64,380.948 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน อีกวงเงินประมาณ 1,785 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รับการเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างในครั้งนี้ กรมทางหลวง มีความจำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งในส่วนของเนื้องาน และความรับผิดชอบของบริษัทผู้รับจ้างคู่สัญญาให้มีความละเอียดรอบคอบ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ โดยมีรองอธิบดีฝ่ายดำเนินงาน เป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิศวกรรม ระเบียบ กฎหมาย อาทิ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด กรมบัญชีกลาง สำนักกฏหมาย กระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้หากรวมค่าก่อสร้างเพิ่มอีก 1,784.9428 ล้านบาท จะทำให้วงเงินค่าก่อสร้าง รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจาก 64,380.948 ล้านบาท เป็น 66,165.88 ล้านบาท


ปัจจุบัน งาน 40 ตอน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 24 ตอน ส่วนอีก 16 ตอน ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.สภาพพื้นที่ในสนามที่ทำการก่อสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม 2. ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน 3. ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภค หรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการฯ ตัดผ่าน 4. ปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขแบบก่อสร้าง ส่งผลให้ค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้น ซึ่ง

ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะเร่งรัดเดินหน้าการก่อสร้างงานโยธาในส่วนที่เหลือให้สามารถเปิดทดลองให้บริการได้โดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทดลองวิ่ง ช่วงปากช่อง ถึง ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ในช่วงปลายปี 2566 รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-FLOW ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบ พร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 และเปิดใช้บริการเส้นทางอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น