กรมเจ้าท่าเผย มี.ค.นี้สรุปผลศึกษา PPP ท่าเรือสำราญรองรับเรือ Cruise เกาะสมุย (Cruise Terminal) ชง "คมนาคม" และ สคร.เดินหน้าก่อสร้างอาคารพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก รับเรือสำราญขนาดใหญ่
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกาะสมุยยังไม่มีท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่เรือสำราญที่ต้องการเข้าเทียบท่าที่เกาะสมุยจึงต้องทอดสมอที่บริเวณหาดหน้าทอนและให้นักท่องเที่ยวโดยสารเรือเล็กเพื่อขึ้นชายฝั่งโดยมีนักท่องเที่ยวเพียงประมาณ 50% ที่ลงจากเรือสำราญเพื่อขึ้นชายฝั่ง ดังนั้น กรมเจ้าท่า จึงมีการพัฒนาท่าเทียบเรือจะเป็นการช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
โดยมีโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี (Cruise Terminal) ซึ่งในงบปี 2563-2565 กรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาโครงการและวิเคราะห์การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) พร้อมศึกษาทางเลือกที่ตั้งที่เหมาะสมที่สุด อยู่บริเวณทางตอนใต้เกาะสมุย ที่แหลมหินคม โดยการศึกษาจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคม 2566 นี้ จากนั้นจะสรุป และนำเสนอรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นชอบ ก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อดำเนินการในรูป PPP ต่อไป
โดยขอบเขตการดำเนินงาน ได้แก่ การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร มีพื้นที่อย่างน้อย 7,200 ตารางเมตร และรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง ตัวอาคาร รองรับและส่งเสริมการใช้งานของอาคารโดยสารให้มีกิจกรรมได้ตลอดทั้งปี เช่น ห้องประชุม ร้านขายของที่ระลึก และร้านอาหาร
มีสะพานขึงต้องมีความกว้าง 40 เมตร และยาว 445 เมตร สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารกับพื้นที่หลังท่าที่มีอาคารศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว อาคารจำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านอาหาร และอาคารบริการ ซึ่งการใช้สะพานขึงเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อซากปะการังที่อยู่บริเวณใต้สะพาน
สำหรับท่าเรือที่จะให้บริการแบ่งออกเป็น ท่าเรือเฟอร์รี (ทางเลือก) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปและกลับจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดนครศรีธรรมราช (จอดเรือได้สูงสุด 6 ลำ) ท่าเรือยอชต์ (ทางเลือก) จะมีท่าเทียบเรือที่ทันสมัย รองรับเรือยอชต์ได้ถึง 80 ลำ ผู้ลงทุนสามารถออกแบบได้ใหม่เพื่อให้บริการเรือยอชต์ได้หลากหลายประเภทมากขึ้น โดยรูปแบบอาคารบริการต้องออกแบบให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมเจ้าท่า เพื่อรองรับกิจกรรมทั้งหมด ทั้งท่าเทียบเรือสำราญ ท่าเรือเฟอร์รี และท่าเรือยอชต์
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการปรับปรุงท่าเรือ landing pier ที่จะรองรับเรือสำราญ cruise ที่จะเข้ามาทิ้งสมอบริเวณใกล้ท่าเรือหน้าทอน ตามงบปี 2564-2566 เพื่อก่อสร้างท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับการขนถ่ายนักท่องเที่ยวจากเรือ cruise ขึ้นฝั่งได้อย่างเป็นระเบียบ รวดเร็วและปลอดภัย ขอบเขตงาน ประกอบไปด้วย
1. ก่อสร้างที่พักคอยรองรับผู้โดยสาร ขนาด 30 x 60 เมตร พื้นที่ประมาณ 1,800 ตารางเมตร
2. ก่อสร้างสะพานทางเดิน ขนาด 5 x 152 เมตร พื้นที่ประมาณ 760 ตารางเมตร
3. ก่อสร้างโป๊ะเทียบเรือ คอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 x 20 เมตร จำนวน 8 ชุด พื้นที่ประมาณ 640 ตารางเมตร 4. ติดตั้งเสากันกระแทก และยางกันกระแทก โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566
ทั้งนี้ รูปแบบอาคารบริการต้องออกแบบให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมเจ้าท่า เพื่อรองรับกิจกรรมทั้งหมด ทั้งท่าเทียบเรือสำราญ ท่าเรือเฟอร์รี และท่าเรือยอชต์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อด้านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม และการท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจต่อประเทศชาติ และภาครัฐต่อไป