กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้าของไทย ศึกษาความต้องการของตลาดยานยนต์ในสาธารณรัฐเช็ก และหาโอกาสส่งออกหลังฮุนไดตั้งเป้าเพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รองรับตลาดขยายตัว
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจาก นางสาววิภาวี วรรณพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก ถึงแนวโน้มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของโรงงานผลิตรถยนต์ฮุนไดในสาธารณรัฐเช็ก และโอกาสการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้า
ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลว่า ในปี 2565 ฮุนไดได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 40% แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่อง Supply Chain โดยผลิตรถยนต์ได้รวม 322,500 คัน เพิ่มขึ้น 17.3% และตั้งเป้าการผลิตปี 2566 คือ 328,500 คัน และรถยนต์ที่ผลิตได้ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ถึง 66 แห่ง โดยเยอรมนีเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด ประมาณ 14% ตามด้วยอังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น ฮ่องกง New.Caledonia และหมู่เกาะ Mauritius and Madagascar ส่วนตลาดเช็กมีสัดส่วนเพียง 5%
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากฝ่ายบริหารของฮุนไดที่ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ตลาดมีความสนใจในรถยนต์ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยในปีนี้บริษัทจะผลิตรถยนต์ใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ คือ Kona Electric model และคาดว่าจำนวนรถยนต์ใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า
นายภูสิตกล่าวว่า แม้ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจในสาธารณรัฐเช็กอยู่ระหว่างการเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านราคาพลังงาน และภาวะเงินเฟ้อที่ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะหดตัวต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีหน้า แต่สัญญาณบวกสำหรับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ ยังปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง โดยบริษัทผู้ผลิตจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสาธารณรัฐเช็กมีตัวเลขการผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา แม้จะต้องเผชิญกับปัญหา Supply Chain และปัญหาอื่นๆ
“แนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้เห็นโอกาสในการส่งออก สำหรับสินค้ากลุ่มชิ้นส่วน ส่วนประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดชิ้นส่วน ส่วนประกอบสำหรับรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า รวมไปถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ใช้ไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับสถานีชาร์จไฟฟ้า อุปกรณ์ชิ้นส่วนที่ต้องใช้ประกอบการติดตั้ง การดูแลรักษาและซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ผู้ผลิตกลุ่ม Semiconductors ควรเตรียมแผนการผลิตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับสำหรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของยานยนต์ที่ใช้ไฟฟ้า และควรมีการคิดค้นและใช้นวัตกรรมใหม่ การออกแบบ รวมถึงการมีบริการหลังการขาย อะไหล่ ชิ้นส่วนรถยนต์ สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้ไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างจุดเด่นให้กับสินค้า” นายภูสิตกล่าว