กรมขนส่งฯ ผนึก "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จัดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย กระตุ้นและสร้างจิตสำนึกผ่านเครือข่ายรถโดยสารสาธารณะ เร่งชง ครม.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพิ่มโทษ ต้องหยุดรถ คุมความเร็ว บริเวณทางข้าม ทางม้าลาย ไม่เกิน 30 กม./ชม.
วันที่ 31 มกราคม 2566 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย และร่วมกันมอบสติกเกอร์รณรงค์ให้เครือข่ายรถโดยสารสาธารณะ ประกอบด้วย ผู้ขับรถแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ให้บริการขนส่งอาหารและพัสดุองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยมีภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อทำให้ทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการข้ามถนนบนทางม้าลาย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 เพื่อนำปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้ทางม้าลายมาพิจารณาเพื่อศึกษาและแก้ปัญหาเชิงระบบโดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการแก้ไขกฎหมาย ด้านการปรับปรุงทางกายภาพ และด้านการรณรงค์สร้างจิตสำนึก “ขับรถระวังคน ข้ามถนนระวังรถ” และการสร้างเครือข่าย
ขณะนี้เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทลงโทษเรื่องการจราจรบริเวณทางม้าลาย เช่น การกำหนดให้รถต้องหยุดบริเวณเส้นทึบทางม้าลายเมื่อมีคนข้าม, การเพิ่มค่าปรับ แบบขั้นบันไดตามความเร็วของรถเมื่อผ่านทางม้าลาย โดยกำหนดให้หยุดรถที่ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีบทลงโทษกรณีไม่หยุดรถตรงทางม้าลายค่าปรับอยู่ที่ 4,000 บาท ตามกฎหมาย และตัดแต้ม ซึ่งการเสนอแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เรื่องการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย เนื่องจากกฎหมายเดิมเป็นการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังเท่านั้น ดังนั้น จึงเห็นว่าต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ส่วนการกำหนดความเร็วบริเวณทางม้าลายนั้น เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินการแล้ว อีกทั้งได้มีการประชุมกำหนดจุดติดป้ายกำกับความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2566
ปัจจุบัน กทม.มีทางม้าลายจำนวน 3,280 แห่ง โดยเมื่อปี 2565 ได้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางม้าลายแล้วจำนวน 138 แห่ง ปี 2566 จะดำเนินการปรับปรุงติดตั้งจำนวน 62 แห่ง ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้ประสานกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และ ขบ.เพื่อจัดทำแผนให้ครอบคลุมต่อไป โดยจะจัดลำดับจุดที่ความสำคัญเพื่อดำเนินการ มีเป้าหมายแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2566-2567
สำหรับการรณรงค์มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความปลอดภัย ลดความสูญเสียจากชีวิตทรัพย์สินคนที่เสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 400 คนต่อปี หรือมากกว่า 1 คนต่อวัน, การสร้างค่านิยมให้เคารพกฎระเบียบของสังคม ต่อไปนี้ขอให้รถยนต์และยานพาหนะทุกชนิดหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายเมื่อเห็นว่าขับขี่ถึงทางม้าลายและกำลังมีคนขอข้ามทางม้าลาย ส่วนผู้ใช้ถนนต้องข้ามถนนตรงทางม้าลาย สะพานลอย หรือทางข้ามทุกชนิด, การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่และวินัยจราจรของประชาชนทุกคน การร่วมมืออย่างเข้มงวดจะทำให้สังคมดี มีวัฒนธรรมความปลอดภัยที่ดี
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยในแต่ละปีมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมาก และจำนวนหนึ่งเกิดจากอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม ขบ.ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนในทุกมิติ เช่น การยกระดับการเรียนรู้และทักษะการขับรถ, โครงการนักเรียนรุ่นใหม่มีใบขับขี่, รณรงค์มาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้บุคลากรของกรมการขนส่งทางบกทุกคนเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎจราจรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถใช้ถนนอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะมีการสอดแทรกประเด็นส่งเสริมความปลอดภัยบริเวณทางม้าลายไว้ด้วย
ทั้งยังมีโครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำและการใช้ทางข้ามถนนปลอดภัย ซึ่งจะมีการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของผู้ข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่ การออกแบบ รวมไปถึงกฎหมายสำหรับการควบคุมพฤติกรรมเพื่อให้ทางม้าลายหรือทางข้ามเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งต่อผู้ข้ามทางม้าลายและผู้ขับขี่ นอกจากนี้ ขบ.ได้มีการจัดทำสื่ออินโฟกราฟิกเพื่อกระตุ้นการรับรู้ประเด็นความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังว่าการจัดกิจกรรมรณรงค์หยุดรถให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลายในครั้งนี้จะช่วยสร้างจิตสำนึก “ขับรถระวังคน ข้ามถนนระวังรถ” อีกทั้งผู้ขับขี่ต้องตระหนักถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประเทศไทย