ผู้จัดการรายวัน 360 - ปิดฉากบริษัทร่วมทุน "เจดี เซ็นทรัล" เรียบร้อย ถอยฉากตลาดอีคอมเมิร์ซมาร์เกตเพลซในไทย หลังลุยตลาดไทยมา 4 ปี สุดท้ายไม่รอด ผลประกอบการฉุดขาดทุน
จากกรณีบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ออกประกาศเป็นทางการเมื่อวานนี้ (30 มกราคม 2566) สรุปว่า ทางบริษัทฯ ขอเรียนแจ้งให้ทราบว่า JD CENTRAL มีความจำเป็นต้องยุติการให้บริการในประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของบริษัท JD.com เพื่อมุ่งเน้นในการขยายและพัฒนาธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยการสร้างเครือข่ายซัปพลายเชนข้ามพรมแดนผ่านการกระจายสินค้าและการขนส่งเป็นหลัก
แหล่งข่าวกล่าวว่า กลุ่มเจดีของจีนได้ประกาศถอนธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาร์เกตเพลซทั้งในไทยและในอินโดนีเซียพร้อมกันในวันเดียวกัน โดยในไทยเป็นการร่วมทุนกับทางกลุ่มเซ็นทรัลในสัดส่วนเท่ากัน จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 มีทุนจดทะเบียน 4,959,271,000 บาท ซึ่งผู้บริหารระดับสูงตำแหน่งซีอีโอเป็นคนที่มาจากทางเจดีบริหารมาตั้งแต่ต้น มีคนจาก จิราธิวัฒน์ ร่วมบริหารด้วย แต่ภายหลังได้ทยอยเปลี่ยนแปลงและออกมาบ้างแล้ว ส่วนที่อินโดนีเซียเป็นการร่วมทุนเช่นกัน ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจประกาศเป็นทางการนี้ ได้มีการพิจารณาถึงอนาคตการดำเนินธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่มีข้อสรุปจนกระทั่งครั้งนี้
โดยครั้งนี้ให้สาเหตุว่า ทั้งสองผู้ร่วมทุน คือ เจดี ก็ต้องการที่จะมุ่งเน้นการขยายและพัฒนาธุรกิจในตลาดต่างประเทศ โดยการสร้างเครือข่ายซัปพลายเชนข้ามพรมแดนผ่านการกระจายสินค้าและการขนส่งเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันนี้เจดีไม่มีธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาร์เกตเพลสในต่างประเทศอีกแล้ว ยกเว้นที่จีนเท่านั้นซึ่งเป็นตลาดใหญ่และเป็นรายใหญ่ด้วย ขณะที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลเองก็มีการรุกหนักทางด้านเซ็นทรัลออนไลน์เช่นเดียวกัน จึงอาจจะทำให้ธุรกิจมีการทับซ้อนกันก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม คนในวงการมองว่าผลประกอบการขาดทุนและการมาช้ากว่าคู่แข่งทั้งสองรายในตลาดอย่าง ลาซาด้า กับ ช้อปปี้ น่าจะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เจดีเซ็นทรัลต้องตัดสินใจถอยทัพในครั้งนี้
จากตัวเลขของบริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด ที่ได้รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่าปี 2560 มีรายได้รวมประมาณ 5.2 แสนบาท ขาดทุน 4 ล้านบาท, ปี 2561 มีรายได้รวม 458 ล้านบาท ผลประกอบการขาดทุน 944 ล้านบาท, ปี 2562 มีรายได้รวม 1,285 ล้านบาท ผลประกอบการขาดทุน 1,343 ล้านบาท, ปี 2563 มีรายได้รวม 3,492 ล้านบาท ผลประกอบการขาดทุน 1,376 ล้านบาท, ปี 2564 รายได้รวม 7,443 ล้านบาท ขาดทุน 1,930 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม คู่แข่งเองก็อาจจะยังมีผลประกอบการที่ยังไม่ได้สวยหรูมากเท่าใดนักแต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่า เจดีเซ็นทรัล
หากมองทั้งสามรายคือ ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดีเซ็นทรัล แล้ว การทำตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงความเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรม สองรายแรกจะมีมากกว่า ทุ่มงบประมาณมากกว่า การบริหารจัดการคล่องตัวกว่ามาก ส่วนเจดีเซ็นทรัลอาจจะมีจุดแข็งในเรื่องของสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเและไอที เทคโนโลยี เป็นหลัก มากกว่าคู่แข่ง เนื่องจากเซ็นทรัลมีเพาเวอร์บายเป็นฐานธุรกิจที่มั่นให้กับเจดีเซ็นทรัลได้เป็นอย่างดี แต่หากมองในมุมกลับ ด้วยความที่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าในการซื้อต่อหน่วยค่อนข้างสูง และเป็นสินค้าที่ใช้นาน ไม่ได้มีการซื้อซ้ำหรือซื้อถี่บ่อยๆ ที่จะสร้างรายได้ตลอดเวลา ไม่มากเหมือนกับอีกสองราย ที่มีทุกกลุ่มสินค้าเหมือนกันกับเจดีเซ็นทรัล แต่มีจุดแข็งในเรื่องของสินค้าเอฟเอ็มซีจี สินค้าแฟชั่น เมกอัพต่างๆ ที่มีราคาขายต่อหน่วยไม่สูงก็ตาม แต่เป็นสินค้าที่มีการซื้อถี่ซื้อบ่อยจากลูกค้า
นอกจากนั้น หากมองในภาพใหญ่ เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการค้าออนไลน์ได้รับความนิยม ซึ่งเป็นผลดีต่ออีมาร์เกตเพลซรวมทั้งเจดีเซ็นทรัลด้วย แต่เมื่อโควิดเบาบางลง พฤติกรรมของคนก็เปลี่ยนต้องการหันกลับมาชอปปิ้งทางออฟไลน์มากขึ้นเหมือนเดิม อีกทั้งจากเดิมที่ไม่ค่อยได้ใช้เงินไปในทางอื่นเพราะโควิด เช่นไม่ได้เที่ยวต่างประเทศและในไทย ไม่ได้กินอาหารที่ร้าน อยากใช้เงินจับจ่ายกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เมื่อโควิดซาลงก็มีความต้องการจับจ่ายในหลายเรื่องราวตามที่กล่าวมา แต่ขณะที่รายได้ยังคงทรงตัว การชอปปิ้งสินค้าออนไลน์ที่ไม่จำเป็นก็ลดลง
แม้ว่าอีคอมเมิร์ซมาร์เกตเพลซจะดูเติบโตดี เพราะแข่งขันกันหนักมาก แต่จริงๆ แล้วมูลค่าตลาดออนไลน์ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เพียงแค่ 6-7% เท่านั้น จากมูลค่าตลาดค้าปลีกโดยรวมทั้งระบบของไทย
สำหรับในช่วงนี้ ร้านค้าอย่างเป็นทางการของ JD CENTRAL (JD CENTRAL Official Store) จะปิดการสั่งซื้อสินค้าเวลา 23.59 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ส่วนตลาดกลาง : แพลตฟอร์ม JD CENTRAL (ร้านค้าอื่นๆ) จะปิดการสั่งซื้อสินค้าเวลา 23.59 น. วันที่ 3 มีนาคม 2566 และ JD CENTRAL จะจัดการคำสั่งซื้อสินค้าที่เสร็จสมบูรณ์ ก่อนและภายในวันที่ 3 มีนาคม 2566 โดยเวลาการจัดส่งจะขึ้นอยู่กับการดำเนินการของบริษัทขนส่งภายนอกและผู้ขาย ส่วนศูนย์บริการหลังการขาย
(Customer Services) จะยังคงดำเนินการให้บริการหลังการขายสำหรับคำสั่งซื้อที่เสร็จสมบูรณ์ โดยจะเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้ แพลตฟอร์ม JD CENTRAL: ศูนย์บริการช่วยเหลือลูกค้าออนไลน์ (Live Chat Channel) โทรศัพท์ : 0-2030-4599 อีเมล : cs@jd.co.th ส่วนคะแนนสะสม JD (JD POINTS) และคูปองส่วนลดจะสามารถใช้ได้จนถึงเวลา 23.59 น. วันที่ 3 มีนาคม 2566 ด้านการรับประกันสินค้าดำเนินการโดยแบรนด์ ตามนโยบายของแบรนด์และกฎหมายไทย