xs
xsm
sm
md
lg

"ศักดิ์สยาม"ลงพื้นที่จ.อุบลฯ ติดตามคืบหน้าพัฒนาโครงข่ายคมนาคม - ดันแผนสร้างรถไฟทางคู่ 2 สาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ศักดิ์สยาม"ลงพื้นที่จ.อุบลฯติดตามคืบหน้าพัฒนาโครงข่ายคมนาคม เชื่อมภาคอีสาน เร่งก่อสร้างทางหลวง, ทางหลวงชนบท 18 โครงการ ดันรถไฟทางคู่ 2 สายวงเงินกว่า4.5 หมื่นล้าน เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่ง

วันที่ 27 มกราคม 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า
การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ผู้บริหารและหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคม ร่วมลงพื้นที่โดยมี นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี  ให้การต้อนรับ  ณ ท่าอากาศยานอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม เร่งรัดผลักดันเปิดให้บริการโครงข่ายคมนาคมทุกโหมดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร รองรับเชื่อมโยงการเดินทางกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สนับสนุนการค้าการท่องเที่ยวสู่ใน เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมภาคเกษตรกรรม สนับสนุนการกระจายรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และสนับสนุนการค้าการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


โดย มีการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญทุกโหมดการเดินทางในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้มิติการพัฒนาทางถนน กรมทางหลวง ดำเนินการเสร็จแล้ว จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวมกว่า 3,729 ล้านบาท

ได้แก่ 1.โครงการขยายช่องจราจร แยกบ้านจาน–อำเภอเดชอุดม 2. โครงการขยายช่องจราจร อำเภอตระการพืชผล-อำเภอเขมราฐ และ ตอนบ้านแสนสบาย-อำเภอเขมราฐ 3 .โครงการก่อสร้างขยายช่องจราจร แยกทางหลวงหมายเลข 2085-อุบลราชธานี 4. โครงการปรับปรุงทางหลวง อำเภอพิบูลมังสาหาร-ด่านช่องเม็ก และ 5. โครงการทางแยกต่างระดับ จุดตัด ทล.231 กับ ทล.23 (แยกดงอู่ผึ้ง) (พร้อมทางคู่ขนาน)

โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ บ้านสวน–เขื่องใน, บ้านหนองผือ–อำภอเขมราฐ, ห้วยยาง–สองคอน, หนองผือ–นาไฮ, บ้านโคก–ธาตุกลาง, ม่วงสามสิบ – พนา, ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี (กิจกรรมก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง) และถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี (กิจกรรมพัฒนาสะพานและระบบระบายน้ำ)


การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสะพานข้ามลำห้วยร่องขุม อำเภอตระการพืชผล อยู่ระหว่างดำเนินการ ผลการก่อสร้าง 91.81% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2566

2. โครงการถนนสาย อบ.3007 แยกทล.212-บ้านเหล่าเสือโก้ก อำเภอม่วงสามสิบ
อยู่ระหว่างดำเนินการ ผลการก่อสร้าง 80.10% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

3. โครงการถนนเชิงลาดสะพานข้ามลำมูลน้อย อำเภอเมือง อยู่ระหว่างดำเนินการ ผลการก่อสร้าง 57.04% อยู่ระหว่างขออนุมัติขยายระยะเวลาการก่อสร้าง

4. โครงการสะพานแม่น้ำลำเซบก อำเภอดอนมดแดง อยู่ระหว่างดำเนินการ ผลการก่อสร้าง 50.84% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567

5. โครงการสะพานข้ามลำห้วยหลวง อำเภอนาจะหลวย อยู่ระหว่างการบวนการจัดซื้อจัดจ้าง


นอกจากนี้ ยังแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค MR-MAP ที่มี ถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟร่วมกัน เน้นการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมคำนึงถึงผลกระทบการเวนคืนและการแบ่งแยกชุมชนเป็นหลัก โดยมีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคอื่นของประเทศไทย ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง โดยมีเส้นทางที่ผ่านพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ MR5: กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพไทย-ล่าว แห่งที่ 6)

@ดันอนุมัติ รถไฟทางคู่"ชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ"3.66 หมื่นล้านบาท

สำหรับ แผนพัฒนา โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 36,683 ล้านบาท ประกอบด้วยสถานีใหญ่พิเศษ จำนวน 4 สถานี สถานีขนาดใหญ่ จำนวน 3 สถานี สถานีขนาดกลาง จำนวน 8 สถานี และสถานีขนาดเล็กจำนวน 20 สถานี อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการ

และโครงการรถไฟทางสายใหม่ ช่วงอุบลราชธานี-ช่องเม็ก ระยะทาง 87 กม. มี 4 สถานี วงเงินลงทุน 9,197 ล้านบาท มีแผนของบประมาณปี 2567 เพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น

ด้านการพัฒนาทางน้ำในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ โครงการขุดลอกแม่น้ำชี
กม. 55 + 00 ถึง กม. 60 + 00 อำเภอเชื่องใน และโครงการขุดลอกแม่น้ำชี กม. 195 + 00 ถึง กม. 200 + 00 อำเภอพนมไพร เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง การสร้างท่าเทียบเรือในแม่น้ำโขงบริเวณเทศบาลตำบล
บ้านด่านโขงเจียม อำเภอโขงเจียม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจาก สปป.ลาว รวมทั้งมีการบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากอุทกภัย


@สนามบินอุบลฯคาดปี 66 มีผู้โดยสาร 1.5 ล้านคน

สำหรับท่าอากาศยานอุบลราชธานี สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,050 คน/ชั่วโมง ซึ่งการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในปี 2566 โดยคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเที่ยวบินในปี 2566 ทั้งปี กว่า 5,254 เที่ยวบิน ผู้โดยสารรวม 1.5 ล้านคน โดยมีแผนขยายขีดความสามารถ ได้แก่ โครงการงานก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสารและปรับปรุงลานจอดรถยนต์ ที่สามารถรองรับรถโดยสารประจำทาง จำนวน 2 ช่องจอด รถเช่าขับเอง จำนวน 30 ช่องจอด รถเช่าพร้อมคนขับจำนวน 5 ช่องจอด รถแท็กซี่จำนวน 28 ช่องจอด
และลานจอดรถยนต์ จำนวน 164 คัน โครงการปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าลงใต้ดิน โครงการงานซ่อมบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ และโครงการงานก่อสร้างทางขับและขยายลานจอดรถเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน หากแล้วเสร็จจะสามารถรองรับลานจอดเครื่องบินจากเดิมจอดได้ 5 ลำ เพิ่มเป็นจอดได้ 10 ลำทางขับจากเดิม 2 เส้นทางขับ เพิ่มเป็น 3 เส้นทางขับ และลานจอดรถยนต์รองรับได้เพิ่ม 230 คัน

ด้าน การเชื่อมโยงระบบคมนาคมจากสถานีขนส่งผู้โดยสารไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีและระหว่างจังหวัด ซึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี มีสถานีขนส่งรองรับ 2 สถานี คือ สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอเดชอุดม และสถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอสิรินธร (ช่องเม็ก) มีรถโดยสารต่างประเทศ มี 2 เส้นทาง คือ สายที่ 3 อุบลราชธานี-ปากเซ และสายที่ 10 กรุงเทพมหานคร-อุบลราชธานี-ปากเซ


นายศักดิ์สยามกล่าวย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมต้องมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยต้องจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อแปลงโยบายไปสู่การปฏิบัติ การดำเนินงานต้องคำนึงถึงปัจจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และต้องสร้างความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนก่อนเริ่มการดำเนินโครงการ และควรคำนึงถึงเรื่อง Climate Change ตามนโยบายของรัฐบาลกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการ และมีมาตรการการป้องกันอุบัติเหตุระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด สำหรับการสำรวจและออกแบบก่อสร้างโครงการต่าง ๆ จะต้องพิจารณาด้านอุทกศาสตร์และไม่ให้กีดขวางทางระบายน้ำ ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และ ต้องยึดกฎ ระเบียบ ข้อกฎหมาย และมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด


กำลังโหลดความคิดเห็น