กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือนภัยประชาชนและภาคธุรกิจอีกรอบ ระวังโจรไซเบอร์หลอกกรอกข้อมูลแล้วดูดเงิน หลังล่าสุดลามถึงนิติบุคคลต่างชาติ เผยตั้งคณะทำงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกรมพัฒนาธุรกิจการค้าคอยจับตาแล้ว ลั่นไม่เอาไว้ ส่งข้อมูลตำรวจดำเนินคดีทุกราย พร้อมแนะ 4 วิธีป้องกันถูกหลอก
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประชาชนผู้ประสบเหตุและผู้เสียหายได้ติดต่อมายังกรมฯ จำนวนเพิ่มขึ้นผ่านทางสายด่วน 1570 อีเมล และช่องทาง Social Media ของกรมฯ เพื่อแจ้งถึงกรณีมีมิจฉาชีพแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมฯ ขอให้อัปเดตข้อมูลนิติบุคคล โดยใช้กลอุบายให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไลน์ที่เป็นบัญชีปลอมเพื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชน อีเมล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และข้อมูลบัตรเครดิต เป็นต้น จากนั้นมิจฉาชีพจะเข้าระบบดูดเงินจากในบัญชีธนาคารของผู้เสียหายออกไป ซึ่งล่าสุดได้ขยายความเดือดร้อนไปถึงนิติบุคคลต่างประเทศที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยใช้กลอุบายหลอกลวงแบบเดียวกัน แต่เป็นรูปแบบภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติได้ กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ดำเนินการในเชิงรุก พร้อมแต่งตั้ง “คณะทำงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมกรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ขึ้น เพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการหลอกลวงนี้ โดยได้รับแจ้งเรื่องประกอบกับให้ส่งหลักฐานที่มีสำหรับนำไปแจ้งตำรวจเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับมิจฉาชีพทุกรายที่นำชื่อและตราสัญลักษณ์ของกรมฯ ที่เป็นหน่วยงานราชการไปหลอกประชาชน และขอแนะนำให้ผู้เสียหายควรไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้สกัดกั้นการกระทำลักษณะนี้ไม่ให้ขยายวงกว้าง รวมไปถึงกรมฯ ยังได้ส่งต่อหลักฐานให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
“กรมฯ ได้ประกาศแจ้งเตือนอยู่เป็นระยะ รวมถึงวิธีการป้องกันตัวเองเพื่อให้นิติบุคคลและประชาชนระมัดระวังตัว ไม่หลงเชื่อ และกรมฯ ไม่มีนโยบายที่จะติดต่อหรือทักหาประชาชนไปก่อน หรือให้อัปเดตข้อมูลผ่านระบบไลน์”
สำหรับในภาคประชาชนและธุรกิจ กรมฯ ขอย้ำเตือนว่าการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลในยุคนี้ ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง มิเช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อของโจรไซเบอร์โดยไม่รู้ตัว และการป้องกันตัวใน 4 รูปแบบยังคงมีความสำคัญ คือ 1. ก่อนเข้าเว็บไซต์ต้องเช็กตัวสะกดของ URL ให้ดี 2. ไม่กดลิงก์/SMS/โหลดแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จักหรือได้รับแชร์ 3. ไม่หลงเชื่อคำเชิญชวน และ 4. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยและต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน 1570 เว็บไซต์ www.dbd.go.th และ FB: DBD Public Relations