“กบง.” เคาะขยายเวลาตรึงราคา LPG ที่ 408 บาท/ถัง (15 กก.) อีก 1 เดือน หรือสิ้นสุด 28 ก.พ. เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชน จากนั้นไฟเขียวให้ขยับราคา 15 บาท/ถัง หรือขยับเป็น 423 บาท/ถัง มีผล 1-31มี.ค. พร้อมเคาะลดค่าไฟฟ้าให้กลุ่มเปราะบางใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือนในงวด ม.ค.-เม.ย. เฉลี่ย 67.04-92.40 สต./หน่วย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ว่า กบง.ได้พิจารณาทบทวนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ตรึงราคาอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (กก.) ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 66 โดยเห็นชอบให้คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 19.9833 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อไปอีก 1 เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 -28 กุมภาพันธ์ 2566 และปรับราคาขายปลีก LPG เพิ่มอีก 15 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมในเดือนมีนาคม โดยจะปรับเป็นราคาขายปลีก 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลตั้งแต่ 1-31 มีนาคม 2566 ทั้งนี้ ประชุม กบง.ได้มอบหมายให้ สนพ. ประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป
“ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลกในปัจจุบันยังคงผันผวน โดย ณ วันที่ 16 มกราคม 2566 ราคา LPG นำเข้าอยู่ที่ 698 เหรียญสหรัฐ ต่อตัน เทียบได้กับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ที่ประมาณ 450 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีก LPG ในประเทศอยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 813 ล้านบาทต่อเดือน และฐานะกองทุนบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 44,794 ล้านบาท ซึ่งจะเข้าใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG ที่ให้ติดลบได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบจึงให้ตรึงราคานี้ต่อไปอีก 1 เดือน จากนั้นให้ปรับขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันฯ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ได้มีการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าประจำเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ซึ่งมีค่า Ft เรียกเก็บที่ 93.43 สตางค์/หน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยกลุ่มเปราะบางที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน มีรายละเอียดดังนี้ จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ 1-150 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 92.04 สตางค์/หน่วย จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ 151-300 หน่วย ส่วนลดค่าไฟฟ้า 67.04 สตางค์/หน่วย
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ประเมินว่ามาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้จะมีผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 19.66 ล้านราย และคาดว่าจะใช้วงเงินช่วยเหลือประมาณ 7,500 ล้านบาท จากงบประมาณแผ่นดิน และงบที่ได้รับการจัดสรรโดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ระเบียบและขั้นตอน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่อไป