ผู้ประกอบการหวังรัฐต่ออายุมาตรการลดภาษีฯ ดีเซล 5 บาทต่อลิตรอีก 2-3 เดือนเพื่อดูแลระดับราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตรหรือปรับลดลงเพื่อช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเดินหน้าฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ด้าน ก.พลังงานยอมรับล่าสุดฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิติดลบลดลง ล่าสุดเหลือ 1.19 แสนล้านบาทแต่หนี้ก็ยังคงสูง ชี้ดีเซลจะตรึงต่อหรือลดราคารอ "คลัง" เคาะชี้ขาดภาษีฯ
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ต้องการให้ภาครัฐโดยกระทรวงการคลังขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตรที่จะสิ้นสุด 22 ม.ค. 66 ต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 เดือนเพื่อดูแลราคาดีเซลขายปลีกไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนไหวจากปัจจัยต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นรอบด้านทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรงงานขั้นต่ำ ดอกเบี้ยที่แนวโน้มยังสูงต่อ ซึ่งหากจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยการปรับขึ้นราคาดีเซลเกินจากอัตรานี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมทันทีและทางกลุ่มคงจะไม่ยอมรับ
“มาตรการอะไรที่จะทำให้ราคาดีเซลไม่ปรับสูงขึ้นไปกว่าเดิมหรือลดลงได้ก็ยิ่งดี นั่นคือสิ่งที่ดีสุดที่เราอยากเห็น ส่วนจะบริหารโดยการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแทนที่มีฐานะเริ่มดีขึ้น หรือว่าลดภาษีฯ ช่วยส่วนหนึ่งก็ไม่ว่ากันแต่อย่าทำให้ราคาดีเซลขึ้นเป็นพอเพราะเศรษฐกิจเราเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว” นายอภิชาติกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกแม้จะมีภาระหลายๆ ด้านที่เพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงแต่ก็ต้องพยายามรักษาระดับการแข่งขันไม่อาจปรับขึ้นค่าขนส่งได้ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมด ประกอบกับมีผู้ประกอบการบางรายที่มีช่องทางในการเข้าถึงกระบวนการจ่ายส่วยเพื่อทำให้การบรรทุกมีข้อได้เปรียบจากน้ำหนักที่สูงกว่ากฎหมายบังคับใช้ได้ ยิ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรถบรรทุกที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
"เราได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็หวังว่าภาครัฐและทุกฝ่ายจะเร่งแก้ไขเพื่อไม่ให้กลายเป็นสองมาตรฐานและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่เกิดการคอร์รัปชัน" นายอภิชาติกล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยและประธานกรรมการบริษัทในเครือวี-เซิร์ฟ (V-SERVE GROUP) ผู้ประกอบการด้านลอจิสติกส์ของไทย กล่าวว่า มาตรการลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรของคลังที่จะสิ้นสุดลง 22 ม.ค.นี้เห็นว่าควรจะต่ออายุไปอีก 3 เดือนเพื่อสนับสนุนการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลงแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจจำเป็นต้องดูแลในช่วงกำลังฟื้นตัว
“ปกติแล้วราคาดีเซลควรจะต่ำกว่าเบนซิน แต่ขณะนี้ดีเซลเริ่มสูงกว่าเบนซินบางชนิดแล้ว แต่เข้าใจว่าที่ผ่านมากองทุนฯ ยังมีหนี้สูง ดังนั้นดีเซลหากไม่ลดลงก็ไม่ควรจะสูงเกิน 35 บาทต่อลิตรเพราะจะยิ่งไปกดดันค่าขนส่งให้ปรับขึ้นและสะท้อนกลับไปยังราคาสินค้า” นายธนิตกล่าว
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เรียกเก็บเงินจากดีเซลเข้ากองทุนฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 5.20 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95, 91 เฉลี่ยอัตราลิตรละ 2 บาท แก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 อยู่ที่ 0.31 บาทต่อลิตร ขณะที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ยังต้องอุดหนุนอยู่ที่ 6.55 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ภาพรวมเริ่มมีเงินไหลเข้าแต่ฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันฯ ยังคงติดลบ 119,771 ล้านบาทจากการตรึงราคาดีเซลและ LPG ในช่วงที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 75,214 ล้านบาท LPG ติดลบ 44,557 ล้านบาท
“ภาษีสรรพสามิตดีเซลคงอยู่ที่นโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญว่าจะต่ออายุหรือไม่ หรือจะปรับอัตราใหม่ที่อาจไม่ถึง 5 บาทต่อลิตร เหล่านี้คงต้องหารือ เพราะต้องยอมรับว่าการลดภาษีฯ ทำให้คลังเองก็สูญเสียรายได้ไปพอสมควร ซึ่งกรณีที่ไม่ต่ออายุหากดูจากกองทุนฯ ที่เก็บดีเซลสะสม 5 บาทต่อลิตรราคาขายปลีกก็จะไม่เปลี่ยน แต่เงินดีเซลก็อาจจะต้องติดลบอีกหากระยะต่อไปราคาตลาดโลกสูง แต่หากลดต่อเนื่องก็คงไม่กระทบมาก แต่สิ่งที่กังวลเมื่อจีนเปิดประเทศเกรงว่าจะดันการใช้และราคาให้เพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว