กระทรวงพลังงานย้ำระยะสั้นยังคงเน้นนโยบายตรึงดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร รอความชัดเจนกระทรวงการคลังลดภาษีฯ ดีเซล 5 บาทต่อลิตรต่อหรือไม่หลังจะสิ้นสุด 20 ม.ค. 66 นี้ กางแผนหนี้กองทุนน้ำมันฯ แม้จะเก็บดีเซลเป็นบวกหลังราคาโลกลดแต่หนี้ยังสูงถึง 1.2 แสนล้านบาท วอนประชาชนยังควรประหยัด
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลใกล้ชิด ซึ่งสัปดาห์นี้จะยังคงตรึงราคาไว้ในระดับไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรเนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังค่อนข้างผันผวนสูง ขณะเดียวกันยังคงต้องรอแนวทางของกระทรวงการคลังว่าจะมีการพิจาณาขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลลงลิตรละ 5 บาทต่อไปหรือไม่จากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ม.ค. 2566
“นโยบายการดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรคงต้องรอติดตามแนวทางหลายๆ อย่างมาประกอบเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารจัดการของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2566 เพราะหากคลังไม่ขยายเวลาลดภาษีฯ ราคาจะสูงขึ้นมาก ประกอบกับราคาตลาดโลกเองก็ยังผันผวนค่อนไปในระดับสูงแม้จะไม่สูงมากเช่นอดีตแต่สวิงขึ้น ลง แรง จึงต้องดูภาพรวมก่อนเป็นสำคัญ” แหล่งข่าวกล่าว
ปัจจุบันราคาน้ำมันโลกสวิงตัวค่อนข้างเร็วแต่ยังคงมีการอ่อนตัวหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุดกองทุนน้ำมันฯ สามารถบริหารจัดการด้วยการเก็บอัตราเงินจากดีเซลเข้ากองทุนฯ เฉลี่ย 4 บาทต่อลิตรและทำให้ดีเซลมีฐานะเริ่มเป็นบวกในเดือน ธ.ค. แต่ขณะที่กองทุนน้ำมันฯ ยังคงมีฐานะสุทธิติดลบรวมถึง 1.23 แสนล้านบาท โดยบัญชีน้ำมันฯ ติดลบ 7.9 หมื่นล้านบาท และบัญชีแอลพีจีติดลบ 4.4 หมื่นล้านบาท จึงทำให้ กบน.ไม่อาจปรับลดเพดานราคาขายปลีกดีเซลลงมาต่ำกว่า 35 บาทต่อลิตรในระยะสั้นนี้ได้แม้ราคาโลกจะลดลงก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หากดีเซลไม่มีการลดภาษีฯ ช่วยเหลือจะทำให้ราคาขายปลีกต้องปรับตัวสูงขึ้นอีก 5 บาทต่อลิตร ซึ่งหากนำกองทุนฯ ที่เก็บได้ไปดูแลโดยรวมก็ยังคงอยู่ในระดับราว 35 บาทต่อลิตร ณ ราคาดีเซลปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องติดตามราคาดีเซลตลาดโลกประกอบด้วย อีกส่วนนโยบายของกระทรวงพลังงานได้เน้นดูแลผลกระทบราคาน้ำมันโดยการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันและกำกับดูแลค่าการตลาด โดยในส่วนของดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร และภาพรวมราคาน้ำมันเฉลี่ยทุกประเภทอยู่ที่ 2 บาทบวกลบไม่เกิน 40 สตางค์ต่อลิตร
“การดูแลราคาดีเซลที่ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตรที่ผ่านมาโดยการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ ให้ต่ำกว่ากลไกตลาดโลกนั้นยอมรับว่ามีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้การใช้ดีเซลเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญคือเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยว และฤดูเก็บเกี่ยวพืชบางชนิดในช่วงปลายปี เช่น อ้อย ทำให้ผลักดันการใช้ดีเซลสูงขึ้นโดยพบว่าเฉพาะ พ.ย.การใช้ดีเซลแตะ 76.67 ล้านลิตรต่อวันจากปีก่อนอยู่ราว 67 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งยิ่งใช้สูงหากดีเซลตลาดโลกแพงก็ยิ่งจ่ายมากขึ้น ท่ามกลางราคาโลกที่ผันผวน จึงเห็นว่าการใช้อย่างประหยัดมีประสิทธิภาพสูงจะช่วยลดภาระทั้งประชาชนและประเทศได้” แหล่งข่าวกล่าว