“ธนกร” เผย นายกฯ กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ติดตามราคาพลังงาน-เงินเฟ้อ อย่างใกล้ชิด ย้ำ ต้องไม่กระทบค่าครองชีพ ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด เล็งปั้นไทยเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค รองรับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าโลก
นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงติดตามสถานการณ์พลังงานไทยและโลกอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาราคาน้ำมันโลกเริ่มปรับตัวลดลง แต่ยังคงมีความผันผวนสูง ทั้งจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อ รวมทั้งการคาดการณ์ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกที่มีแนวโน้มถดถอย ขณะที่ไทยยังสามารถเติบโตต่อเนื่อง ท่านนายกฯ จึงกำชับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการพลังงานภายในประเทศอย่างสมดุล ต้องไม่ให้เกิดการขาดแคลนพลังงาน รวมทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ในประเทศต้องไม่กระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตและการบริการ ที่สำคัญต้องไม่เป็นภาระค่าครองชีพ ประชาชนต้องเดือดร้อนน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังวางอนาคตให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 รวมถึงการส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบรางอีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลยังมุ่งเพิ่มอุปทานและอุปสงค์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงชีวภาพ ผ่านมาตรการจูงใจด้านภาษีและนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีการใช้ยานยนต์มลพิษต่ำในประเทศ รวมถึงส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศ และสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (BEV) ลง 80% เป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่จดทะเบียน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป และลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) รถยนต์สามล้อรับจ้าง รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ครบกำหนดเสียภาษีประจำปี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566 ให้ปรับลดภาษีลง 90% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป
“ครม. เห็นชอบการใช้มาตรการภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ กระตุ้นให้เกิดการเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดย 2 ปีแรก (ปี 65-66) เน้นสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์ รถยนต์กระบะ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ด้วยการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด และช่วง 2 ปีถัดไป (ปี 67-68) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก ยกเลิกการยกเว้น ลดอากรนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) แต่ยังคงมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิต หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ รัฐบาลมั่นใจว่า มาตรการต่างๆ จะช่วยส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทำให้ยังสามารถเป็นฐานการผลิตของภูมิภาครองรับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตทั่วโลกด้วย” นายธนกร กล่าว