กรมเจ้าท่าลุยขุดลอกแม่น้ำวัง จ.ลำปาง และลำน้ำสวย จ.หนองคาย พัฒนาบำรุงรักษาร่องน้ำ เก็บกักน้ำช่วงฤดูแล้ง และระบายน้ำฤดูน้ำหลากพื้นที่ทางการเกษตร
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ กรมเจ้าท่า เร่งการขุดลอกตามแผนงานเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำในภาคการเกษตร เรือสามารถเข้าออกร่องน้ำได้ตลอดเวลา สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และระบายน้ำได้ในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 ได้เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกแม่น้ำวัง ตำบลวังใต้ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ดำเนินการขุดลอก โดยรถขุด ชม.11 ความกว้างก้นร่องน้ำ 20-40 เมตร ระยะทาง 2,750 เมตร ระดับขุดลอกก้นร่องเท่ากับ 400.15-401.15 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณวัสดุขุดลอก 43,000 ลูกบาศก์เมตร
ขณะนี้สามารถดำเนินการขุดลอกช่วงกิโลเมตรที่ 407+900 ถึง 407+500 รวมทั้งถางป่า ปรับแต่งตลิ่ง และวางแนวการขุดลอก หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก การอุปโภค บริโภค และการเกษตร ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร การกัดเซาะตลิ่ง โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอกประมาณ 950 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรประมาณ 2,650 ไร่
สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกลำน้ำสวย ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยรถขุดตักดิน ขก.1 เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน ดำเนินการขุดลอกเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เนื่องจากลำน้ำตื้นเขินจากการสะสมตะกอนดิน ส่งผลให้เกิดปัญหาในการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่ใช้น้ำ รวมถึงช่วงฤดูน้ำหลากประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร
โดยดำเนินการขุดลอกตั้งแต่กิโลเมตรที่ 160+500 ถึงกิโลเมตรที่ 162+650 ระยะทาง 2,150 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอกประมาณ 55,114.50 ลูกบาศก์เมตร ความกว้างของร่องน้ำตามแผนการขุดลอก 6 -27 เมตร ระดับก้นร่องลึกประมาณ 156.00 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ แก้ไขปัญหากระแสน้ำกัดเซาะตลิ่ง รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง
ขณะนี้สามารถขุดลอกได้ระยะทางรวม 505 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอกประมาณ 13,110 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 23.78%
นายสรพงษ์กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้เร่งขุดลอกพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนอาชีพการเกษตร และการเดินเรือให้เกิดความสะดวกและปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อมกับปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณพื้นที่ขุดลอก ให้เกิดความสวยงามเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในชุมชนอีกด้วย